วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

แรงงานไทยในสายตาของผู้ประกอบการ : บทพิสูจน์คุณภาพการอาชีวศึกษา

พศิน แตงจวง

บทนำ
คำว่า แรงงาน ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2531 : 704) หมายถึง 1) ประชากรในวัยทำงาน 2) ความสามารถในการทำงานเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ 3) กิจการที่คนงานทำในการผลิตเศรษฐทรัพย์ 4) ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหมายความว่า แรงงานเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ และประเทศชาติจะสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของแรงงานเป็นสำคัญ แต่จากรายงานการศึกษาของ IMD(International Institute for Management Development) ปี 2545 ผลิตภาพของแรงงานไทยโดยรวมอยู่ในอันดับที่ 45 จาก 49 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าการผลิตของแรงงานไทยโดยรวมเท่ากับ 6,000 ดอลลาร์ต่อคน เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วพบว่าประเทศเหล่านั้นมีมูลค่าการผลิตของแรงงานโดยรวมสูงกว่าไทย 5-6 เท่าและจากรายงานการศึกษาของคนไทยที่ สกศ. ได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2546 พบว่าระดับการศึกษาของแรงงานไทยมีค่าเฉลี่ยเพียง 7.8 ปี นอกจากนี้แรงงานไทยบางส่วนยังมีทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการอีกด้วย (อำรุง จันทวานิช 2548: 60)
ข้อมูลข้างต้นมีความสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ผู้จัดการและหัวหน้างานสถานประกอบการประเภทโรงงานอุตสาหกรรมและสถานบริการจำนวน 80 แห่ง 400 คนทั่วประเทศไทย ที่พบว่าผู้จัดการ และหัวหน้างานจำนวนมากยังไม่พึงพอใจการทำงานของแรงงานโดยเฉพาะในเรื่องขาดความรับผิดชอบ ขาดความอดทน ขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดทักษะที่จำเป็นพื้นฐานและชอบเปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ (พศิน แตงจวง 2548) ซึ่ง สิริพร บุญญานันต์ (2548 : 61) กล่าวเสริมว่า กำลังคนในตลาดแรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านสื่อสารในปัจจุบันคุณภาพน้อยลง ขาดความอดทน ไม่สู้งาน มีการปรับตัวในการทำงานได้น้อย ขาดทักษะในการทำงานจริง ขาดคุณธรรม จริยธรรมและขาดจิตวิทยาในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ต้องฝึกอบรมเพิ่มเติมเมื่อรับเข้ามาทำงานอีก ทั้งนี้อาจสืบเนื่องจาก ปัจจุบันคนไทยมีระดับการศึกษาเฉลี่ยเพียง 8.1 ปี และเมื่อดูสถิติพบว่าเด็กไทยมุ่งเรียนสายวิชาชีพทาง ปวช. และ ปวส. ประมาณ 1 ล้านคนซึ่งก็ยังขาดคุณภาพ ในขณะที่เด็กไทยส่วนใหญ่ยังมุ่งเรียนสายสามัญ เพื่อให้ได้ปริญญาตรี อีกประมาณ 2 ล้านคนซึ่งเข้าเรียนทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน จากความแตกต่างดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลกันระหว่างนักวิชาชีพและนักวิชาการ (อมเรศ ศิลาอ่อน 2548: 75)
ดังเช่น ในปี 2544 มีบัณฑิตสำเร็จระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยเดิม(ไม่รวมมหาวิทยาลัยเปิด) จำนวน 93,764 คน แต่เมื่อนับรวมนักศึกษาที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 224,803 คน (สำนักงานการอุดมศึกษา 2545) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าโดยวัฒนธรรมคนไทยยุคใหม่ต้องการมีการศึกษาสายสามัญสูงเพื่อว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาสูงแล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ทำให้แรงงานภาคเกษตร ผู้ใช้แรงงานระดับกรรมกรและบริการเป็นกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นมาจากชายขอบ ชนกลุ่มน้อยและจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนมากสมัครเข้าทำงานเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยใช้คุณวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้น (ทั้ง ๆ ที่ประกาศรับวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้นและ ปวช. เท่านั้น) จึงได้รับค่าแรงงานขั้นต่ำ(พศิน แตงจวง 2548) นับเป็นเครื่อง บ่งชี้ที่สนับสนุนข้อมูลข้างต้นว่าคนไทยจำนวนหนึ่งมีการศึกษาสูงเกินความจำเป็น สถิติที่บ่งชี้ของการมีการศึกษาสูงดูได้จากการเปิดรับสมัครครูและพนักงาน อบต. ซึ่งมีอัตรารับได้ประมาณ 1-200 อัตรา แต่มีผู้ใช้วุฒิปริญญาตรีสมัครนับแสนคน แต่ในทางตรงกันข้ามโรงงานอุตสาหกรรมเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก (เช่น Siam Eastern Park) กลับขาดแรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปวช. หรือ ปวส. ที่มีคุณภาพจำนวนมาก การผลิตแรงงานไทยจึงไม่สนองตลาดผู้ใช้แรงงาน แต่สนองความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ Wirtz, Willard (1977: 268) ผู้ซึ่งเขียนบทความชื่อว่า “Education for What?” ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งความว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดวิกฤติการณ์ไม่มีงานทำของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และได้มีการโจมตีว่าหนุ่มสาวได้ถูกเตรียมทักษะวิชาชีพไว้ไม่สัมพันธ์กับลักษณะงานที่เป็นจริง

แรงงานและศักยภาพของแรงงานไทย
จากความหมายของคำว่า แรงงาน ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ที่กล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า แรงงานคือ ประชากรในวัยทำงานหรือผู้ใช้แรงงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นผู้ผลิตเศรษฐทรัพย์ให้กับแผ่นดิน แรงงานจึงมีความสำคัญและนับเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามาก ในศตวรรษที่ 21 คุณภาพและศักยภาพแรงงานของแต่ละประเทศจึงเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ
หากดูผลของการเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติของประเทศไทยในช่วง 7 ปี คือปี พ.ศ. 2536-2542 จำนวน 11 ทักษะฝีมือ ประกอบด้วยด้านช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเครื่องประดับ ช่างตัดเสื้อสตรี ช่างปูกระเบื้อง ช่างเชื่อม ช่างเขียนแบบเครื่องกล CAD ช่างแมคคาทรอนิคส์ ช่างอิเล็กทรอนิคส์ ช่างแต่งผมบุรุษ พนักงานประกอบอาหาร พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม พบว่าแรงงานไทยได้ A จำนวน 1 เหรียญ(เหรียญทอง) ได้ B จำนวน 3 เหรียญ(เหรียญเงิน) ได้ C จำนวน 3 เหรียญ (เหรียญทองแดง) และได้ D จำนวน 12 เหรียญ(ประกาศนียบัตร) นั่นคือเมื่อมีการแข่งขันด้านฝีมือในเวทีโลกแล้ว พบว่าศักยภาพแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังด้อยอยู่ (มรกต ศรีสุขและชอุ่ม มงคล 2543:22) ยิ่งจากข้อมูลที่ประเทศไทยไปทำข้อตกลง FTA กับหลาย ๆ ประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา นับว่าเป็นสิ่งที่น่าวิตกที่ไทยมีโอกาสเสียเปรียบด้านการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะได้เตรียมตัวลับมีดให้คมก่อนถึงเวลาบังคับใช้ข้อตกลงจริง เพราะในสภาพหมู่บ้านโลกเรามิอาจหลีกหนีข้อบังคับของ WTO ที่จะบังคับใช้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้ และเราก็หวังจะเห็นผลดีที่เกิดขึ้นหากแรงงานไทยได้มีการพัฒนามากขึ้นอย่างถูกทิศถูกทาง
แต่อีกมุมมองหนึ่ง รัฐบาลไทยปัจจุบันอาจมองการณ์ไกลเนื่องจากประสบการณ์ที่ดำเนินการระหว่างประเทศภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่ประกอบด้วย 5 ด้าน (ศูนย์ศึกษาเอเปค 2547: 2) ได้แก่
1. เขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า (ASEAN Free Trade Area: AFTA) เริ่มตั้งแต่ 1992
2. เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area: AIA)เริ่มในปี 2010
3. การเปิดเสรีการค้า บริการในอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Service : AFAS) เริ่มตั้งแต่ 1992
4. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation: AICO)เริ่มตั้งแต่ 1996
5. การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) เริ่มตั้งแต่ 1998
ซึ่งภายใต้ข้อตกลงส่วนใหญ่เน้นด้านอัตราภาษี ข้อตกลงเขตอาเซียนทั้ง 5 ด้านนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อการอุตสาหกรรม บริการและต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังเช่น
ในช่วงปี 2535 ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศอาเซียนเป็นมูลค่า 1,051.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ต่อมาในปี 2536 ซึ่งเริ่มต้น AFTA ไทยเริ่มเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 645 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2541 ไทยเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 3,494.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2543 ไทยเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 3,167.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอัตราภาษีที่ลดลงทำให้สินค้าเข้ามีราคาถูกลง ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะสินค้าทุนที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 300% คือจาก 1,682.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2535 เพิ่มขึ้นเป็น 5,044.7ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2543 โดยสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีอัตราเพิ่มขึ้นระหว่าง 100- 650% ในขณะที่สินค้าส่งออกประเภทอุตสาหกรรมมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นราว 300% จาก 3,319.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2535 เป็น 9,947.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2543 (ดูตาราง 1 ประกอบ) วัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น สินค้าที่มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องจักรใช้ในการเกษตร หลอดและท่อโลหะ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ด้ายทอผ้าและด้ายเส้นเล็ก หนังดิบและหนังฟอก ยากำจัดศัตรูพืช ไขมันและน้ำมันพืช ปลาป่นและสัตว์อื่น ๆ ป่น ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ธัญพืชและธัญพืชสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นม สิ่งพิมพ์ เครื่องแต่งเรือน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ของเล่น เครื่องเล่นกีฬาและเครื่องเล่นเกม ผักผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ กาแฟ ชา เครื่องเทศ ผลจากการลดภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ไม่มีศักยภาพในการปรับตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอาเซียนที่มีราคาถูกกว่าได้ (ศูนย์ศึกษาเอเปค 2547: 12-14) ตัวอย่างของสินค้าจากประเทศข้างเคียงที่มีราคาถูกกว่าแม้ว่าจะมีคุณภาพต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ และให้โทษทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ แต่สินค้าเหล่านั้นได้แพร่สะพัดให้กับกลุ่มที่มีรายได้น้อยบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ผลกระทบที่ตามมาคือ สินค้าที่ผลิตในประเทศที่มีราคาสูงกว่าแม้ว่าจะมีคุณภาพดีกว่าแต่ไม่เป็นที่สนใจของตลาด ทำให้ผู้ผลิตขาดทุนในการดำเนินการต่อได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องรับภาระในการกำจัดเศษวัสดุอันตรายของสินค้าด้อยคุณภาพ
ผลของข้อตกลงเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้าของ WTO ที่กำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเปิดเสรีทางการค้าภายในปี 2010 และให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องเปิดเสรีทางการค้าภายในปี 2015 และประกอบกับในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความเจริญทางด้าน IT อย่างรวดเร็ว ได้เป็นแรงผลักให้มีการส่งเสริมการค้าอย่างเสรี มีการบุกรุกด้านการตลาด การผลิต การเงินการธนาคาร การลงทุน และการศึกษาอย่างรวดเร็วและกว้างขวางจนประเทศไทยต้องทำ FTA(Free Trade Area) กับหลายประเทศก่อนถึงเวลาบังคับเพื่อเป็นการกระตุ้นให้แรงงานไทยต้องเร่งรีบพัฒนาทั้งศักยภาพและคุณภาพตนเอง และควรลดการผลิตแรงงานเชิงปริมาณ – เชิงพาณิช มิฉะนั้นเราจะขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพและไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกในระยะยาวได้

แรงงานที่แท้จริงในภาคอุตสาหกรรมและบริการ
ผลจากการสัมภาษณ์ผู้จัดการและหัวหน้างานในโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการประเภทบริการต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า “ขาดแรงงานที่มีคุณภาพ” แรงงานในที่นี้คือ แรงงานขั้นมัธยมศึกษาตอนต้น – ปลาย และอนุปริญญา เช่น ปวช. ปวท. ปวส. ส่วนคำว่าแรงงานที่มีคุณภาพ หมายความว่า แรงงานที่มีคุณลักษณะต่อไปนี้
1. มีความรู้ความสามารถทางวิชาการตรงตามมาตรฐานของแต่ละระดับการศึกษา
2. มีทักษะพื้นฐานและพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะอาชีพที่สถานประกอบการดำเนินการ
3. มีความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์และรักองค์การ
4. มีความใฝ่รู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต
5. มีความรู้ภาษาอังกฤษและมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์
6. มีไหวพริบ และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
ในสภาพของความเป็นจริงแรงงานไทยมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใน
ระดับต่ำ มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ มีศักยภาพและมีความใฝ่รู้ค่อนข้างต่ำ มีความอดทน ขยันและซื่อสัตย์ มีไหวพริบ และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ในระดับปานกลาง แรงงานไทยที่มีศักยภาพปานกลางมักชอบโยกย้ายงานตามเพื่อนและเมื่อไม่พึงพอใจกับสภาพงาน หรือเมื่อเห็นว่าค่าจ้างแรงงานไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โดยเฉพาะจากการศึกษาเส้นทางชีวิตการทำงานพบว่า แรงงานภาคอุตสาหกรรมที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี มีประสบการณ์การทำงาน(ย้ายงาน)มาราว 3-5 แห่ง มีผลทำให้ขาดทักษะการทำงานที่แท้จริง นอกจากนี้ยังพบว่าในตอนสุดท้ายของชีวิตการทำงาน แรงงานเหล่านี้คาดหวังว่าจะออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว(พศิน แตงจวง 2548)

อาชีวศึกษา
ความหมายของ อาชีวศึกษา ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2531 : 915) หมายถึง “การศึกษาที่มุ่งไปในทางช่างฝีมือ” การอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นด้านอาชีพ และเป็นเครื่องมือในการพัฒนากำลังคน อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนในระดับกลางประเภทช่างฝีมือต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม
เกลียวพรรณ์ ขำโนนงิ้วและคณะ (2546: 1-2) กล่าวว่าในส่วนของกรมอาชีวศึกษาได้กำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอนใน 5 ประเภทวิชา คือ ช่างอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม คหกรรมและศิลปกรรม โดยจัดการศึกษา 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีจุดมุ่งหมายที่สรุปได้ 3 ประการ ประกอบด้วย
1. เพื่อให้การศึกษาและฝึกอบรมที่จำเป็นแก่การอาชีพ เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกเรียนได้ตามความถนัด ตามความสนใจและตามความต้องการของตลาดแรงงาน
2. เพื่อให้งานที่ใช้เทคนิควิธีและเทคโนโลยี ได้มีการปฏิบัติจนเกิดทักษะ มีสติปัญญา มีคุณธรรมในการทำงานดีพอ มีความรู้เรื่องจัดการธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมจนสามารถประกอบอาชีพได้
3. เพื่อใช้ความรู้และสำนึกในการทำงานที่ดี มีการป้องกันอุบัติภัย สามารถทำงานเป็นหมู่คณะได้ มีมนุษยสัมพันธ์ มีความเคารพในสิทธิของตนและผู้อื่น มีความเข้าใจทางการเมืองและรู้จักปฏิบัติให้เป็นพลเมืองดี สำนึกความเป็นไทย

หมายความว่า โดยหลักการแล้วผู้ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับ ปวช. และ ปวส. ได้ร่ำเรียนสาขาวิชาที่ตนเองถนัด สนใจและตามความต้องการของตลาดแรงงาน มีทักษะ มีสติปัญญา มีคุณธรรมในการทำงาน มีความสามารถป้องกันอุบัติภัย ทำงานเป็นหมู่คณะได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพนักงานที่ดี แต่เป็นที่น่าสนใจว่าหลักสูตรทั้ง 2 ไม่ได้กล่าวถึง การเป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ตลอดชีวิต มีความรู้ภาษาอังกฤษ มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ มีความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์และรักองค์การแต่อย่างใด ประเด็นดังกล่าวล้วนเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเป็นบุคคลในยุคโลกาภิวัตน์

คุณภาพของผลผลิตด้านอาชีวศึกษา
จากการศึกษาของเกลียวพรรณ์ ขำโนนงิ้วและคณะ (2546:52-63) ซึ่งทำการศึกษาคุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายตามคามคิดเห็นของนายจ้างในจังหวัดเชียงราย พบว่าความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีต่อคุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษา ด้านวิชาการ และ IT ด้านทักษะและวิธีปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านบุคลิกภาพและลักษณะส่วนตัวอยู่ในระดับมาก ในทางตรงกันข้ามความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจเห็นว่าผู้สำเร็จการศึกษามีคุณลักษะทั้ง 3 ด้านอยู่ในระดับน้อย ซึ่งเรไร ธราวิจิตรกุล (อ้างในเกลียวพรรณ์ ขำโนนงิ้วและคณะ (2546: 2) แสดงความเห็นว่า การอาชีวศึกษาที่ผ่านมาขาดเงินงบประมาณในการพัฒนา ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยเน้นด้านปริมาณ โดยไม่คำนึงคุณภาพ ขาดการประสานงานระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้ ไม่มีข้อมูลตลาดแรงงาน ขาดการร่วมมือและกำลังสนับสนุนระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ ตลอดจนขาดการติดตามผลและประเมินผล
จากข้อมูลดังกล่าวจึงขัดต่อเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 20 ที่ว่า “การจัดการอาชีวศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพให้จัดในสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาของเอกชน สถานประกอบการ หรือโดยความร่วมมือระหว่าสถานศึกษากับสถานประกอบการ ในอันที่จะนำข้อมูลทางตรงจากสถานประกอบการมาเป็นหลักในการจัดทิศทางและขอบเขตทางการจัดการศึกษา”
Mounier, Alain (2005) กล่าวว่า คุณภาพของผลผลิตด้านอาชีวศึกษาจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาที่ดำเนินตามมาตรฐานการศึกษามากน้อยเพียงใด หากปล่อยให้มีปริมาณการผลิตมากโดยไม่มีระบบการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดและมีมาตรฐานดีพอ ก็จะก่อให้เกิดการผลิตบุคลากรที่ด้อยคุณภาพ และเมื่อกลุ่มด้อยคุณภาพเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นก็จะก่อให้เกิดบัณฑิตด้อยคุณภาพในโอกาสต่อมา บัณฑิตเหล่านี้จะกลับมาสอนในสถาบันการศึกษาด้วยกระบวนการเช่นเดียวกัน กลายเป็นปัญหาแบบงูกินหางเรื่อยไป

ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานและอาชีวศึกษา
ภายใต้หลักความเชื่อที่ว่า การทำงานคือ การเกิดผลทางเศรษฐกิจคือมีเงินเดือนหรือมีรายได้เป็นเงินตราตอบแทนนั้น Mill, Ted (1977: 88-89) กล่าวว่าเนื่องจากเราอยู่ในยุคของสังคมอุตสาหกรรม (industrial societies) ทำให้คนมองข้ามการทำงานบ้านของพ่อบ้านยามว่างหรือวันหยุดในสวนหย่อม ซ่อมเครื่องตัดหญ้า เปลี่ยนหลอดไฟฟ้า หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์หรือซ่อมของใช้และของเล่นให้ลูกหรือแม้กระทั่งการทำงานของแม่บ้านในบ้านเช่น ถูบ้าน ทำอาหาร ทำขนม เย็บปักซ่อมเสื้อผ้าว่าไม่ใช่การทำงาน(not working) และกล่าวอ้างถึงพจนานุกรม Webster’s New International Dictionary ว่าได้ให้ความหมายทั้งในส่วนของรายได้และในทำนองเดียวกันก็กล่าวถึงว่า คือ การทำงานเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในงาน (an effort to accomplish something)
Mill, Ted (1977: 90-91) กล่าวอ้างถึงเกณฑ์ในการทำงานที่ The American Center for Quality of Work Life in Washington กำหนดไว้ 14 ประการ ประกอบด้วย
1. มีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานและการจัดการ
2. มีการพัฒนาด้านการสื่อสารเพื่อความเข้าใจที่ดี
3. มีการพัฒนาสภาพ บรรยากาศการทำงาน (working conditions)
4. มีความร่วมมือระหว่างภาคแรงงานและภาคการจัดการในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัท
5. พัฒนาให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
6. ก่อให้เกิดความพึงพอใจแก่พนักงานทุกคน
7. สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและทะลายความลำเอียงลง
8. พัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงาน (environment)
9. ส่งเสริมให้พนักงานสามารถแก้ปัญหาประจำวันได้
10. พัฒนาลักษณะงาน(improved jobs)
11. พัฒนาคุณภาพของผลผลิต
12. ดำเนินการแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ
13. เสริมสร้างผลกำไรแก่บริษัท
14. ลดปริมาณการนิเทศลง

โดยหลักการทั่วไปเชื่อกันว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการสำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษา แต่จากการสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและแรงงาน(CELS) ภายใต้งานวิจัยที่ชื่อว่า การจ้างงาน ทักษะและการศึกษา:การแสวงหาระบบและโครงสร้างแรงงานเพื่อการพัฒนาที่พอเพียงและยั่งยืน” ซึ่งเป็นงบประมาณ แผ่นดิน ทำการสำรวจแรงงานในภาคอุตสาหกรรม(โรงงานอุตสาหกรรม) และผู้ประกอบอาชีพอิสระ พบว่าราวร้อยละ 15 มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า ร้อยละ 35 มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 35 มีการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และเพียงร้อยละ 15 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่า
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าแรงงานไทยภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการมีการศึกษาต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการที่เป็นนักลงทุนจาต่างประเทศ (Foreign Direct Investment- FDI) ต้องการแรงงานราคาถูก มีคุณวุฒิต่ำ ต้องการแรงงานที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถสูง เพียงแต่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดมาจากโรงงานแม่ในต่างประเทศ จึงก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายประการ เช่น มีเงินเดือนต่ำ(Low wage) มีทักษะต่ำ(Low skill) และมีผลิตภาพต่ำ(Low productivity) และไม่ก่อให้เกิดการผ่องถ่ายความรู้ (Transfer of knowledge) แต่อย่างใด
จากการสัมภาษณ์นายจ้างสถานประกอบการเกี่ยวกับทักษะแรงงานที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาพบว่า ทักษะที่ผู้สมัครเข้าทำงานจบการศึกษาระดับ ปวช./ปวส. ส่วนใหญ่ไม่มีความสัมพันธ์กับภาระงานที่ดำเนินการในสถานประกอบการ จึงทำให้สถานประกอบการประเภทประกอบชิ้นส่วนต้องการรับสมัครพนักงานที่มีวุฒิตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไปซึ่งสามารถอ่านภาษาอังกฤษออกบ้างจำนวนมาก และหลังจากที่สมัครแล้วก็ทำการฝึกอบรมทักษะการทำงานราว 1-3 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลักษณะงาน ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. จะถูกบรรจุให้เรียนรู้การคุมเครื่องจักร เนื่องจากจะมีความสามารถฝึกให้เรียนรู้ความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักรได้ง่าย อย่างไรก็ตามสถานประกอบการที่ต้องการผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. จะเข้มงวดในการรับสมัคร โดยมีการทดสอบทักษะขั้นพื้นฐาน และมีผลสรุปว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. จากสถาบันการศึกษาของรัฐมีมาตรฐานทักษะการทำงานสูงกว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเอกชน
ในรายงานของ Klemp,Jr., George O. (1977: 102-103) พบว่าการศึกษาด้านวิชาการที่พนักงานมีสูงมักไม่สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เขามีคำอธิบายว่างานบางอย่างต้องการพนักงานที่มีความตั้งใจ (willing) และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (to learn new things) และพบว่าการศึกษาที่ได้จากห้องเรียนจะลืมหมดภายใน 1-2 ปี และการที่จะเป็นพนักงานที่ดีนั้น Schumacher, E.F.(1977: 61-62) กล่าวว่า สถาบันการศึกษาจะต้องสอนให้นักศึกษาพร้อมที่จะเข้าสู่โลกของงาน โดยให้สามารถจำแนกแยกแยะให้ได้ระหว่างงานที่ดี (Good work) และงานที่เลว (Bad work) และเน้นให้ปฏิเสธที่จะทำงานในแบบเลว นักศึกษาควรถูกสอนให้ปฏิเสธการทำงานในลักษณะน่าเบื่อ ไม่มีคุณค่า น่าเยาะเย้ย แต่ให้ตระหนักว่า การทำงานคือชีวิต มีความสุขกับการทำงานและกระตือรือร้นที่จะพัฒนาอยู่เสมอ

บทวิเคราะห์
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก (Export led growth) โดยเชิญชวนให้นักลงทุนจากต่างประเทศมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกไปขายทั้งในเอเชียและทวีปอื่น ๆ มีการเสนอเงื่อนไขปลอดภาษี และประชาสัมพันธ์เรื่องแรงงานมีคุณภาพแต่ค่าแรงต่ำ มีสาธารณูปโภคบริการพร้อม ซึ่งทำให้มีนักลงทุนมาสร้างโรงงานประกอบและผลิตสินค้าจำนวนมาก ทำให้คนไทยมีงานทำดังที่ทราบดันโดยทั่วไป แต่ผลจากการศึกษาของศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและแรงงาน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อวิจัยที่ว่า “การจ้างงาน ทักษะและการศึกษา : การแสวงหาระบบและ โครงสร้างแรงงานเพื่อการพัฒนาที่พอเพียงและยั่งยืน” พบว่ามีปัญหาด้านแรงงาน การจ้างงานและมีผลิตภาพค่อนข้างต่ำ ข้อค้นพบดังกล่าวได้ตอกย้ำผลการวิจัยของ เกลียวพรรณ์ ขำโนนงิ้วและคณะ (2546) งานวิจัยของ สกศ. (อ้างในอำรุง จันทวานิช 2548: 60) และคำกล่าวอ้างของ สิริพร บุญญานันต์ (2548) ที่ว่าแรงงานไทยยังขาดคุณภาพ และจากข้อสรุปของ Mounier, Alain (2005) ที่กล่าวว่า คุณภาพของผลผลิตด้านอาชีวศึกษาจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาที่ดำเนินตามมาตรฐานการศึกษามากน้อยเพียงใด หากปล่อยให้มีปริมาณการผลิตมากโดยไม่มีระบบการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดและมีมาตรฐานดีจะก่อให้เกิดปัญหาแบบงูกินหางเรื่อยไป ประกอบกับข้อมูลที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น ในการวิเคราะห์เพื่อการแก้ปัญหา เราอาจต้องทำความเข้าใจการมองภาพของงานในอนาคตดังที่ Harman, Willis W. (1977: 236-237) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า งานในอนาคตจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สถาบันการศึกษาจะต้องทำความเข้าใจในความเป็นไปเหล่านี้ โดยเขาได้ตั้งข้อสังเกต 7 ประการ ประกอบด้วย
1. ในสังคมอุตสาหกรรม มีความสัมพันธ์อย่างสูงระหว่างการจ้างงาน(Employment) และเครื่องมือ(Resource utilization)
2. งานอุตสาหกรรมที่มีพัฒนาการอย่างมากย่อมก่อให้เกิดผลิตภาพแรงงานสูงขึ้นด้วย
3. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและวัตถุดิบมีผลกระทบต่อการจ้างงานและผลิตภาพแรงงาน
4. การมุ่งเน้นผลิตภาพแรงงานย่อมทำลายความชำนาญบางอย่างและลดการให้ความสนใจแรงจูงใจลง
5. การเพิ่มระดับการศึกษากับการลดคุณค่าของงานก่อให้เกิดปัญหาต่อแรงงานที่กำลังปฏิบัติงาน
สิ่งที่ Harman กล่าวข้างต้นนั้น Kuhn, Sarah (1992: 266-267) ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ความ
เจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอมพิวเตอร์ได้เข้าไปทำงานแทนที่ทักษะที่ครั้งหนึ่งต้องอาศัยทักษะของคนและกล่าวว่างานมีลักษณะแตกแขนงและก่อให้เกิดภาระงานใหม่ ๆ ขึ้น ส่วนการผลิตเพื่อมุ่งขายให้กับกลุ่ม เป้าหมายขนาดใหญ่จะต้องการทักษะเฉพาะของมนุษย์ลดลง เหตุการณ์ที่ Kuhn กล่าวสอดคล้องกับที่ พศิน แตงจวง (2548) พบในงานวิจัยของ CELS ที่ว่าสถานประกอบการประเภทผลิตเพื่อขายสู่เป้าหมายปริมาณมากและใช้เครื่องจักรทำงาน และใช้พนักงานทำงานในส่วนที่ไม่ต้องใช้ความรู้หรือสติปัญญาสูงในการตัดสินใจ จะประกาศรับพนักงานที่มีวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้น เข้าทำงาน ส่วนสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. เข้าทำงานในปริมาณมาก แต่จะรับพนักงานที่มีวุฒิปริญญาตรี เพียงจำนวนน้อยเพื่อทำหน้าที่หัวหน้างานหรือรับผิดชอบการบริหารงานบุคคล ในสถานประกอบการที่ผลิตสินค้าคุณภาพสูงและมีนักลงทุนเป็นชาวต่างชาติมักจะเข้มงวดในการคัดเลือกบุคลากรใหม่ และจะส่งบุคลากรใหม่เข้ารับการฝึกอบรมในบริษัทแม่ต่างประเทศทั้งนี้เนื่องจากความรู้ความสามารถของบัณฑิตจากสถาบันการศึกษายังไม่เพียงพอที่จะเข้าปฏิบัติงานได้
ส่วนสถานประกอบการที่เป็น Self-employed หรือประกอบอาชีพอิสระ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมครอบครัวที่มีปริมาณการจ้างแรงงานจากภายนอกจำนวนน้อย ในกรณีที่มีการจ้างแรงงานจากภายนอกส่วนใหญ่พบว่าเป็นแรงงานจากชายขอบและจากเพื่อนบ้านที่เข้ามาขายแรงงานกรรมกร ทักษะของผู้ประกอบอาชีพอิสระส่วนใหญ่สืบทอด เรียนรู้จากบรรพบุรุษมากกว่าจากสถาบันการศึกษา ลักษณะของผลผลิตจึงยังไม่สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศหรือแย่งชิงตลาดต่างประเทศได้
ในสภาวะที่รัฐบาลไทยออกไปทำการตกลง FTA กับนานาประเทศย่อมมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศได้ เนื่องจากจะมีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศทะลักเข้ามาโดยไม่เสียภาษี ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ มีหน้าที่หลักในการผลิตบุคลากรออกไปรับใช้ในองค์การต่าง ๆ ในระดับต่าง ๆ และยังมีภารกิจในการบริการสังคมอีกด้วย จึงน่าจะมีการทบทวนภารกิจ และหน้าที่เร่งด่วนเพื่อช่วยกันพัฒนาชาติ ศักยภาพของเยาวชนและของบุคลากรของชาติให้ทัดเทียมกับนานาชาติมากกว่านี้

ตัวอย่างปัญหาการศึกษาในระบบและการแก้ไขในสถานประกอบการ
Lusterman (1977: 79-80) กล่าวถึง การศึกษาสำหรับแรงงาน (Employee education) ว่าเกิดขึ้นในสถานประกอบการที่พนักงานสมัครเข้าทำงาน เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าและความสลับซับซ้อนของทักษะมีมากขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็ว การศึกษาดังกล่าวถูกนำมากล่าวถึงหลังจากที่อยู่ในมุมมืดของระบบการศึกษา (Shadow educational system) มานาน ทั้ง ๆ ที่การศึกษานี้มีเป้าหมาย มีความเหมาะสมในการพัฒนาทักษะของแรงงานมากกว่าระบบการอาชีวศึกษาที่จัดในสถาบันการศึกษาเสียอีก และจากการศึกษาพบว่าในปี 1975 ผู้ประกอบการเอกชนขนาดใหญ่จำนวน 7,500 แห่ง จ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาดังกล่าวมากถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Tough (cited in Chickering, 1977: 125-126) ที่กล่าวว่า การเรียนรู้จำนวนมากเกิดนอกระบบโรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Houle (cited in Chickering, 1977: 126) ที่พบในทำนองเดียวกันว่า ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม สังคมอาชีพ (Guilds) และสถานประกอบการต่าง ๆ จัดการศึกษาด้านอาชีวะแก่พนักงาน ส่วนด้านวิชาความรู้ (scholarly training) จัดโดยมหาวิทยาลัย
ในประเทศฝรั่งเศส สถาบันวิจัยชื่อว่า Institut National de la Recherche Agronomique(INRA) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Montpellier ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับพืชพานิชนานาชนิดที่ประเทศชาติให้ความสนใจ และรวมถึงการทำการวิจัยองุ่นพันธุ์ดีต่าง ๆ ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการและทดลองในแปลงของทั้งของสถาบันและเกษตรกร ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่า 15 ปีก็ได้เปลี่ยนพันธุ์องุ่นที่ใช้ผลิต Wine จากชั้นเลว ขายไม่ได้มาเป็นชั้นดีเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก สถาบันเป็นผู้นำในการผลิต Wine ชั้นดีโดยมีเกษตรกรเข้าร่วมทุกขั้นตอน
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันได้มีกฎหมายรองรับให้สถานประกอบการจัดการศึกษาให้กับคนงานได้เองเสมือนเป็นโรงเรียนในโรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของแรงงานไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ส่งเสริมความรู้ทางวิชาชีพของคนงานให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ส่งเสริมความรู้ทางวิชาชีพของคนงานให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นซึ่งความรู้เหล่านี้นอกจากจะส่งผลดีต่อตัวคนงานเองแล้วยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการด้วย เพราะเมื่อแรงงานมีความรู้มากขึ้นการทำงานก็จะมีประสิทธิ-ภาพมากตามไปด้วย (กุลนารี เสือโรจน์ 2548: 45) แต่ในสภาพที่เป็นจริงสถานประกอบการที่ดำเนินการ ส่วนใหญ่ดำเนินการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัย 5 ส หรือให้เรียนรู้จากการทำงาน(on-the-job-training) อื่นเพื่อสามารถทำงานทดแทนในกรณีที่เพื่อนร่วมงานขาดงานได้โดยไม่ทำให้ผู้ประกอบการเสียผลประโยชน์

บรรณานุกรม
กุลนารี เสือโรจน์ (2548) “จากวันกรรมกรสากลถึงวันแรงงานแห่งชาติ” วารสารการศึกษาไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 7.
พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2531) กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ อักษรเจริญทัศน์.
พศิน แตงจวง (2548). ศักยภาพของแรงงานไทย : บทเรียนจากการสัมภาษณ์พนักงานและผู้บริหารสถาน
ประกอบการ บทความประกอบการเสนองานวิชาการ จัดโดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 24
สิงหาคม ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์
สิริพร บุญญานันต์ (2548). “ผู้ประกอบการเสนอสถานศึกษาพัฒนาบัณฑิตสำเร็จรูป” วารสารการศึกษาไทย
ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 มิถุนายน.
ศูนย์ศึกษาเอเปค (2547). การศึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคในปัจจุบันของไทย. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มรกต ศรีสุขและชอุ่ม มงคล(2543). ความสามารถด้านทักษะของเยาวชนไทยบนเวทีโลก : ผลการแข่งขัน
แรงงานนานาชาติ ปี 2536-2542. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กรุงเทพฯ : บริษัท เซเว่น
พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด
อำรุง จันทวานิช (2548) “สกศ.เร่งส่งเสริมสถานประกอบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถแรงงานไทย”
วารสารการศึกษาไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 มิถุนายน.
อมเรศ ศิลาอ่อน (2548). “สกศ.เตรียมจัดทำแผนเพื่อยกระดับการศึกษาอาชีวะ” วารสารการศึกษาไทย ปีที่ 1
ฉบับที่ 7 เมษายน.
ACIRRT (1999). Australia at Work. Sydney: Prentice Hall.
Adler, Mortimer J. (1977). “Work, Education, and Leisure” in Vermilye, Dyckman W. (Editor). Relating
Work and Education. San Francisco: Jossey-Bass Publishers.
Chickering, Arthur W. (1977). “Vocations and the Liberal Arts” in Vermilye, Dyckman W. (Editor).
Relating Work and Education. San Francisco: Jossey-Bass Publishers.
Harman, Willis W. (1977). “Future Work, Future Learning” in Vermilye, Dyckman W. (Editor). Relating
Work and Education. San Francisco: Jossey-Bass Publishers.
Jones, Bryn (1992). “When Certainty Fails: Inside the factory of the Future” in Wood, Stephen (Editor).
The Transformation of Work? : Skill, Flexibility and the Labour Process. London: Routledge.
Lusterman, Seymour. (1977). “Education in Industry” in Vermilye, Dyckman W. (Editor). Relating Work
and Education. San Francisco: Jossey-Bass Publishers.
Mills, Ted. (1977). “Work as Learning Experience” in Vermilye, Dyckman W. (Editor). Relating Work
and Education. San Francisco: Jossey-Bass Publishers.
Schumacher, E.F. (1977). “Good Work” in Vermilye, Dyckman W. (Editor). Relating Work and Education.
San Francisco: Jossey-Bass Publishers.
Wirtz, Willard (1977). “Education for What?” in Vermilye, Dyckman W. (Editor). Relating Work and
Education. San Francisco: Jossey-Bass Publishers.

ไม่มีความคิดเห็น: