วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

พัฒนาการของรูปแบบการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอก

พศิน แตงจวง
อารัมภบท
นับตั้งแต่เมื่อราวศตวรรษที่ 19 ที่โลกได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาเพื่อสร้างชาติให้พัฒนาองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม (Samoff, 2003: 53) ในขณะที่ประเทศไทยมีสถาบัน อุดมศึกษาแห่งแรกในศตวรรษที่ 20 คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีประกาศพระบรมราชโอการ ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชพลเรือนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับได้ถึงปัจจุบันราว 90 ปี ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาทั้งสิ้นราว 646 แห่ง ช่วงเวลาดังกล่าวได้มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็วซึ่ง Schugurensky (2003: 292-294) มองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องตระหนักตนเองว่าต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมาะสมทั้งไม่สามารถหลีกหนีจาก postindustrial economy ซึ่งเกิดจากผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความรู้ การจัดการมากกว่าทุนและแรงงานเท่านั้น สถาบันอุดมศึกษาต้องเป็นสถาบันการศึกษาของทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ เนื่องจากภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ประเทศต่าง ๆ ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งของหมู่บ้านโลก สถาบันการศึกษายุคใหม่จึงถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาให้ต้องผลิตคนที่มีความรู้และมีทักษะสูงขึ้นเพื่อสนองสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต้องการแรงงานที่สามารถปรับตัวได้ดีและสามารถทำงานที่มีความสลับซับซ้อนได้ด้วย (Rutgers University, http://oirap/.rutgers. edu/strategic/) ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งของหมู่บ้านโลก สถาบันการศึกษายุคใหม่จึงต้องพร้อมที่จะให้บริการแก่ลูกค้าหรือผู้รับการศึกษาหลากหลายประเภท หลากหลายความต้องการ ทั้งที่เป็นบุคคลในท้องถิ่น ในประเทศและจากประเทศต่าง ๆ ด้วยปรัชญา วิสัยทัศน์และภารกิจใหม่ ตามบทบาทและจุดมุ่งหมายของแต่ละประเภทและระดับการศึกษาที่สถาบันนั้น ๆ ดำเนินการ(Samoff, 2003: 53) ดังที่ Rutgers University บัญัติว่า The university exists in a global arena. Our perspectives and academic programs must reflect this context. ในขณะเดียวกัน ลูกค้าหรือผู้รับการศึกษาก็ได้สร้างแรงผลักดันให้สถาบันการศึกษาต้องปรับรูปแบบการจัดการศึกษา วิธีการให้บริการการศึกษาและมีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ของลักษณะภาระงานที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังที่เมธี ปิลันธนานนท์ (2546 : 1) กล่าวว่า ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลกระทบถึงรูปแบบการบริหารและการจัดการของสถาบันการศึกษาอย่างมาก ในทำนองเดียวกันสถาบันการศึกษาใดสามารถปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมได้รับการตอบสนองจากลูกค้าอย่างดี ซึ่งมีผลดีต่อเศรษฐกิจการเงินและการบริหารจัดการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (อุทัย ดุลยเกษม 2546 : 61-63)

รูปแบบการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลกมีหลากหลายรูปแบบ เช่น จัดแบบมีชั้นเรียนในสถาบันการศึกษา จัดร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศ จัดร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่นจากต่างประเทศ จัดโดยสถาบัน (เช่น สถาบันวิจัย) จัดแบบมีชั้นเรียนในสถาบันการศึกษาอื่นหรือศูนย์บริการการศึกษา จัดแบบไม่มีชั้นเรียนในรูปของมหาวิทยาลัยเสมือน e-learning หรือระบบ online มหาวิทยาลัยบรรษัท (Corporate university) จัดแบบเรียนทางไกลโดยมีการจัดบรรยายเป็นครั้งคราว จัดแบบตลาดวิชา จัดแบบการศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยหรือตลอดชีวิต จัดการเรียนการสอนโดยบรรษัทและหน่วยงานต่าง ๆ เช่น Dell University ของ Dell Computer Corporation; General Motor University ของ General Motors Corporation และ Motorola University ของ Motorola เป็นต้น รูปแบบการจัดการศึกษาดังกล่าวจัดทั้งในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา : ปริญญาโท ปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก (นท.หญิงทิพยรัตน สีเพชรเหลือง 2544: 66; ยงยศ พรตปกรณ์ 2544: 94-127)
จากการตรวจสอบจำนวนสาขาวิชาที่เปิดสอนระดับปริญญาเอกในกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ(ไม่รวมมหาวิทยาลัยเปิด)ในประเทศไทยในปีการศึกษา 2546 พบว่ามหาวิทยาลัยที่มีอายุการก่อตั้ง 40 ปีขึ้นไป มีการเปิดสอนระดับปริญญาเอก 7-16 สาขาวิชา โดยมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนระดับปริญญาเอกมากที่สุด จำนวน 16 สาขาวิชา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดสอน 14 สาขาวิชา มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดสอน 9 สาขาวิชา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดสอน 8 สาขาวิชาและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอน 7 สาขาวิชา ในขณะที่มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคที่มีอายุน้อยกว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสอนระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 3 สาขาวิชา ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรก เปิดทำการสอนมานานราว 40 ปี เปิดสอนระดับปริญญาเอกนับถึงภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2546 เพียง 1 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ เป็นหลักสูตรนานาชาติ จากข้อมูลดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดสอนระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์น้อยที่สุด แม้เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยเปิดใหม่(เช่นมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ซึ่งแต่ละแห่งเปิดสอนไม่น้อยกว่า 2 สาขาวิชา (พศิน แตงจวง 2548)

แม้ว่าคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีแผนการเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอกมาตั้งแต่แผน พัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียใหม่ ฉบับที่ 7 เนื่องจากในขณะนั้นได้มีประสบการณ์เปิดสอนระดับปริญญาโทมานานกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ได้รับความสนใจจากคณาจารย์เท่าที่ควร หลักสูตรจึงไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง ต่อมาในแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียใหม่ ฉบับที่ 9 ในปีการศึกษา 2546 และ 2547 สาขาวิชาต่าง ๆ ได้เสนอแผน การเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอกรวม4 สาขาวิชา(การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภาวะผู้นำและวิจัยและการพัฒนาการศึกษา) โดยที่ 2 ใน 4 หลักสูตรคือ การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(ชื่อหลักสูตรนี้เคยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อ กุมภาพันธ์ 2543) ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรจากมหาวิทยาลัย เมื่อนำเสนอหลักการ แนวคิดของหลักสูตรถึงระดับคณะ หลักสูตรการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์และสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อนุมัติให้เปิดสอนได้ในปีการศึกษา 2547 ส่วนหลักสูตร “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ผู้บริหารโดยกรรมการบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ได้ตรวจสอบแนวคิดด้านปรัชญาการศึกษา วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ผ่านโดยคณะกรรมการอ้างว่าผู้สอนขาดคุณสมบัติที่จะสอนระดับปริญญาเอก ปรัชญาการศึกษาและแนวการจัดการเรียนการสอนยังไม่เหมาะสม โดยมองดูความเหมาะสมของการใช้ภาษา และที่สำคัญมีความเกรงกลัวต่างๆ นานา แทนที่จะแสวงหาแนวทางพัฒนาความพร้อมหรือช่วยกันปรับปรุงภาษาให้เหมาะสม จึงทำให้คณาจารย์ที่มีความตั้งใจพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต้องสะดุดเป็นระยะๆ และท้ายที่สุดคณะกรรมการบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ มีมติไม่เห็นชอบกับชื่อหลักสูตรดังกล่าว ทำให้หลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาดังกล่าวต้องตกไป

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว บทความนี้จึงมุ่งเน้นการกล่าวถึงความเป็นมา วิวัฒนาการ ปัจจัยเงื่อนไขของการประสบความสำเร็จและล้มเหลวในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง มีการร่วมมือทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ซึ่งTangchuang(2003) ได้นำเสนอแนวคิดเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาในเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ จังหวัดภูเก็ต ได้รับการขานรับแนวคิดนี้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ Tangchuang; Mounier; and Pongwart (2004) ได้นำเสนอแนวคิดการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ คุณธรรม และทักษะสอดคล้องกับความต้องการและพัฒนาการของโลก ในการประชุมทางวิชาการของ ASAIHL-Thailand เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2547 จัด ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม นอกจากนี้บทความนี้ยังได้สังเคราะห์ว่าสถาบันอุดมศึกษาไทยที่เปิดสอนระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีพัฒนาการรูปแบบการจัดการลักษณะใดบ้าง รูปแบบการจัดการศึกษาในลักษณะใดที่ประสบ ปัญหา เพราะเหตุใด และรูปแบบใดมีปัญหาน้อยที่สุด รวมทั้งเสนอแนะการบริหารจัดการการศึกษาระดับปริญญาเอกในยุคต่อไป

ข้อมูลที่ใช้ในการเขียนบทความนี้ได้จากการวิจัยซึ่งผู้เขียนได้ทำการเก็บข้อมูลจากสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์โดยวิธีการสัมภาษณ์เจาะลึกประธานสาขาวิชาหรือหัวหน้าภาควิชาจำนวน 15 สาขาวิชา นอกจากนี้ยังให้คณะกรรมการ ประธาน คณบดีและรองคณบดีทั้งที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันและอดีตตอบแบบสอบถาม มีแบบสอบถามส่งกลับคืนและใช้ในการวิเคราะห์จำนวน 192 ชุด มหาวิทยาลัยที่เป็นกลุ่ม เป้าหมายในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิวัฒนาการการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอก
Hill, S.C.; Fensham, P.J. and Howden, I.B. (1974: 13-14) กล่าวว่าการเริ่มต้นของการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในออสเตรเลียมีความคล้ายกับของยุโรปคือ การเน้นหนักที่การค้นคว้า วิจัย การประเมินผลดำเนินการโดยการสอบ(รวมหรือไม่รวมการสอบปากเปล่า) ภายในเล่มของวิทยานิพนธ์ประกอบด้วย การสำรวจวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะศึกษา การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและนำเสนอบทเรียน สิ่งที่เกิดเป็นความรู้ (State of knowledge) จากการวิจัย โดยอาจารย์รุ่นแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ หลังจากที่ได้เดินทางกลับประเทศได้ดำเนินการในประเทศของตนเอง ดุษฎีบัณฑิตของประเทศออสเตรเลียครั้งแรกเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งใน Melbourne และ Sydney ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามการทำวิจัยเพื่อรับปริญญาเอกนับเป็นจุดเด่นที่เข้มงวดอย่างมาก แต่ก็ได้มีการจัดหาทุนสนับสนุนการค้นคว้าศึกษาวิจัยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาได้ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังด้วย

การจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกเมื่อราวปีการศึกษา 2525 ได้แก่ สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา การวัดผลประเมินผล หลักสูตรและการสอน การปกครอง และภาษาไทยเปิดสอน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการฑูตเปิดสอน ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ วิจัยพัฒนาหลักสูตร และวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ เปิดสอน ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และสาขาวิชาศาสนศึกษาเปิดสอน ณ มหาวิทยาลัยมหิดล (สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย 2525) ในปีการศึกษา 2530 มหาวิทยาลัยที่ทำการเปิดสอนระดับปริญญาเอกเพิ่มเติมในระยะต่อมาได้แก่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามลำดับ (สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย 2530)

ปรัชญาของหลักสูตรก่อนปี พ.ศ. 2538
ตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าประเทศไทยได้มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาตั้งแต่ราวปีการศึกษา 2525 คำตอบที่ได้รับจากผู้ตอบแบบสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าการจัดการศึกษาสมัยนั้นกำหนดปรัชญาการศึกษาของหลักสูตรระดับปริญญาเอกไว้ว่าเพื่อมุ่งผลิตดุษฎีบัณฑิต โดยเน้นการวิจัยควบคู่ไปกับการมีความรู้ด้านเนื้อหาและทฤษฎี กล่าวคือ มุ่งเน้นให้มีศักยภาพด้านการวิจัย ร้อยละ 66.0 เน้นด้านความรู้เนื้อหาวิชา ด้านทฤษฎี ร้อยละ 61.8 เน้นด้านการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ร้อยละ 58.6 ตามลำดับ ในขณะที่ เน้นด้านอื่น ๆ รองลงมา ได้แก่ ด้านการคิดสร้างสรรค์ ร้อยละ 45.5 ด้านบูรณาการเนื้อหาวิชาระดับสากลและระดับชาติ ร้อยละ 44.0 และให้มีศักยภาพด้านการจัดการ ร้อยละ 30.9 ตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมาตรฐานหลักสูตรเห็นว่าการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกแต่ละสถาบันการศึกษามีความแตกต่างและหลากหลายมาก ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มจะมีการขยายเปิดสอนมากขึ้น จึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานโครงสร้างหลักสูตรปริญญาเอก ว่า ในกรณีที่รับผู้เข้าเรียนจบระดับปริญญาตรีจะต้องจัดวิชาต่าง ๆ ให้เรียนไม่น้อยกว่า 54 หน่วยกิต แล้วทำวิทยานิพนธ์ และในกรณีที่รับผู้เข้าเรียนที่จบระดับปริญญาโทจะต้องจัดวิชาให้เรียนไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต แล้วทำวิทยานิพนธ์ (สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย 2530 : 234-236)

ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้การผลิตดุษฎีบัณฑิตกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในช่วงก่อนปีการศึกษา 2538 มีสภาพดังที่กล่าวข้างต้นอาจเนื่องมาจาก มีสถาบันการศึกษาจำนวน 6 แห่งที่เปิดสอนระดับปริญญาเอก ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารยังมีจำกัด มีแหล่งค้นคว้าไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือสื่อต่าง ๆ มีจำนวนจำกัด คณาจารย์ที่มีศักยภาพสูงในเฉพาะสาขาวิชาและวิชาที่สัมพันธ์มีจำนวนจำกัด เช่น ในปี พ.ศ. 2513 สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยทุกสาขาวิชามีอาจารย์ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกเพียง 780 คน เป็นอาจารย์ประจำ 379 คน อาจารย์พิเศษ 304 คนและเป็นชาวต่างประเทศ 97 คน อาจารย์ที่มีวุฒิระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่สังกัดในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ 2513) นอกจากนี้ไพโรจน์ อรุณมงคลผล (2530: 55) กล่าวว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำแนกได้ 2 ประเภทคือ ประเภทที่ทำงานไปวันหนึ่ง ๆ เพื่อรอการปลดเกษียณ และอาจารย์ประเภทที่ก้าวหน้า คือมีความใส่ใจต่อกิจการต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและนักศึกษา การรับนิสิตนักศึกษาในช่วงแรกจึงเน้นการสอบและคัดเลือกเฉพาะผู้ที่มีผลการศึกษาสูงคือเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสำหรับผู้สมัครสอบที่มีวุฒิปริญญาตรี และมี GPA ไม่ต่ำกว่า 3.5 สำหรับผู้สมัครสอบที่มีวุฒิปริญญาโท เป็นบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีคุณวุฒิระดับปริญญาเอก การเรียนการสอนจึงเน้นที่การเรียนการสอนให้จดจำเนื้อหาจากตำราต่างประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากอาจารย์ได้สะสมความรู้ทางประเทศตะวันตกมามาก ทำให้เน้นที่การสอนความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา มากกว่าส่งเสริมให้เรียนรู้กระบวนการทำวิจัยชั้นสูง(เกษม สุวรรณกุล 2531: 9) นักศึกษาต้องเสียเวลากับการอ่าน ท่องจำและแปลหนังสือ ตำรา งานวิจัย วิทยานิพนธ์จากต่างประเทศเนื่องจากขาดองค์ความรู้ที่เป็นของตนเอง ประกอบกับในยุคนั้นแนวความคิดของทฤษฎีทุนมนุษย์ หรือ Human Capital Theory ที่เชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสังคมและโอกาสก้าวหน้าส่วนบุคคล มีอิทธิพลค่อนข้างสูงมากในหมู่นักวิชาการและวางแผนพัฒนาทั่วโลก โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยในโลกที่สาม ประกอบกับลัทธิทุนนิยมได้ผูกขาดในรูปแบบบรรษัทข้ามชาติแพร่ขยายเกือบทั่วโลก อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนมากได้รับทุนการศึกษาให้ศึกษาต่อต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ส่งผู้เชี่ยวชาญและให้เงินมาช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง (อรพันธ์ เจือศิริภักดี 2530 : 114-116) ด้วยขีดจำกัดดังกล่าวจึงทำให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูงเกิดความเบื่อหน่ายในระบบการจัดการศึกษาดังกล่าว ได้ลาออกไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยตรงเมื่อสถาบันการศึกษาต่างประเทศตอบรับหรือได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศ

ปัจจัยเงื่อนไขที่ทำให้ต้องอาศัยตำราจากต่างประเทศเป็นหลักเนื่องจากอาจารย์ผู้มีความสามารถทางสติปัญญาได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศและเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วให้ความสนใจสั่งสมประสบการณ์ด้านการวิจัยน้อย ทำให้มีความรู้ในศาสตร์ที่สัมพันธ์กับบริบทไทยไม่ลึกและไม่สามารถเติมเต็มความรู้ให้ทันสมัย ประกอบกับเงื่อนไขของการสร้างมหาวิทยาลัยในระยะเริ่มต้นมี 3 ลักษณะ (เกษม สุวรรณกุล 2531: 8) ประกอบด้วย 1) มีจุดมุ่งหมายหลักที่จะผลิตบุคคลเพื่อไปรับราชการ 2) เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นหนักแต่การสอนเพียงอย่างเดียว 3) เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยราชการ(เว้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในระยะแรก) จากข้อจำกัดความไม่สมบูรณ์ของวัตถุประสงค์และทรัพยากรมนุษย์ (อาจารย์) ดังกล่าว การจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจึงยังไม่เน้นการวิจัย ประกอบกับนิสิตนักศึกษามีแหล่งค้นคว้าจำกัดเนื่องจากเทคโนโลยีสื่อสาร(ICT) คอมพิวเตอร์ยังมีขีดจำกัดและยังไม่แพร่หลาย การเรียนการสอนจึงค่อนข้างเป็นแบบอาศัยผู้สอนหรือเน้นเนื้อหา โดยอาจารย์ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้มากกว่าให้คำแนะนำ จึงจำเป็นต้องรับนักศึกษา จำนวนจำกัดและเลือกรับเฉพาะผู้ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงเท่านั้น อย่างไรก็ตามไพโรจน์ อรุณมงคลผล(2530: 56) เปิดเผยว่า เนื่องจากอาจารย์มีประสบการณ์ทำวิจัยน้อย หลายคนทำตัวเป็นเจ้าของสัจจะ ล้วนมีผลไปถึงการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาอยู่ในลักษณะหอคอยงาช้าง ซึ่งได้ฆ่าความคิดใหม่ของนักศึกษาอย่างน่าเสียดาย สอดคล้องกับแนวคิดของเสน่ห์ จามริก (2530: 64) ที่กล่าวสั้น ๆ ว่า การอุดมศึกษาเป็นผลผลิตของปรัชญาการศึกษาไทย

ปรัชญาของหลักสูตรในปัจจุบัน
ปรัชญาของหลักสูตรในปัจจุบัน มุ่งเน้นผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีความชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ คำตอบที่ได้จากผู้ตอบ แบบสอบถามเห็นว่า การจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกมุ่งเน้นให้ดุษฎีบัณฑิตมีศักยภาพด้านการวิจัยร้อยละ 89.5 เน้นด้านการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ร้อยละ 78.5 เน้นบูรณาการเนื้อหาวิชาระดับสากลและระดับชาติร้อยละ 66.0 เน้นด้านความรู้ เนื้อหาวิชา ด้านทฤษฎีร้อยละ 59.2 และเน้นด้านการคิดสร้างสรรค์ร้อยละ 51.3 ตามลำดับ ในขณะที่เน้นให้มีศักยภาพด้านการจัดการ เพียงร้อยละ 40.8

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าผู้จัดการหลักสูตรและกรรมการบริหารหลักสูตรระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความต้องการยกระดับคุณภาพบัณฑิตให้ใกล้เคียงกับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าในต่างประเทศ โดยกำหนดให้นักศึกษาต้องไปศึกษาดูงานหรือฝึกงานต่างประเทศเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือต้องนำเสนอผลงานวิชาการในที่ประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ หรือต้องตีพิมพ์บทความทางวิชาการหรือผลงานวิจัยลงในวารสารระดับชาติ/นานาชาติหรือในวารสารที่คณะกรรมการรับรอง นอกจากนี้มีหลายสถาบันดำเนินการจัดการศึกษาโดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ส่งคณาจารย์มาสอน และจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นในต่างประเทศหรือจัดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรนานาชาติและกำหนดให้นักศึกษาเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น ถึงกระนั้นผลจากการจัดอันดับโลก ด้านความน่าเชื่อถือและด้านกระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสมแล้ว มหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังไม่ติดอันดับ 1 ใน 200 ในขณะที่มีหลายมหาวิทยาลัยในแถบเอเชีย เช่น มหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น ติดอันดับดังกล่าว

เป้าหมายของหลักสูตร คุณลักษณะบัณฑิตก่อนปี พ.ศ. 2538
เป้าหมายของหลักสูตรระดับปริญญาเอก ก่อนปี พ.ศ. 2538 เน้นคุณลักษณะของดุษฎีบัณฑิตให้เป็นนักวิชาการระดับสูงด้านทฤษฎี + ภาคปฏิบัติจริง ให้เป็นผู้นำในองค์การและมีความรอบรู้ในศาสตร์เฉพาะทาง และให้เป็นนักวิชาการระดับสูงด้านทฤษฎี โดยฝึกให้เป็นนักวิจัยระดับสูงในอันดับรอง
มหาวิทยาลัยหลัก 5 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยบุกเบิกของไทยที่เปิดสอนระดับปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2525 มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นความเข้มข้นทางวิชาการมากกว่าการเน้นเชิงปริมาณของผู้เรียน กล่าวคือ รับนักศึกษาเข้าศึกษาเพียงสาขาวิชาเอกละ 3-7 คน เท่านั้น ต้องใช้เวลาเรียนและทำวิทยานิพนธ์เฉลี่ยคนละ 4-8 ปี

เป้าหมายของหลักสูตร คุณลักษณะบัณฑิตในปัจจุบัน
เป้าหมายของหลักสูตรในปัจจุบันยังเน้นที่คุณลักษณะของดุษฎีบัณฑิตที่ไม่แตกต่างจากหลักสูตรก่อนปี พ.ศ. 2538 แต่ให้น้ำหนักมากขึ้นกับการเป็นนักวิชาการระดับสูงด้านทฤษฎี + ภาคปฏิบัติจริงถึงร้อยละ 91.1 ให้เป็นนักวิจัยระดับสูง ร้อยละ 90.6 ให้เป็นผู้นำองค์กรและมีความรอบรู้ในศาสตร์เฉพาะทางร้อยละ 76.4 และให้เป็นนักวิชาการระดับสูงด้านทฤษฎีร้อยละ 58.1 ตามลำดับ หมายความว่า ดุษฎีบัณฑิตต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ทั้งกว้างขวางและลึกซึ้งในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากต้องมีความสามารถเป็นผู้นำในองค์การและมีความรอบรู้ในศาสตร์เฉพาะทางโดยมีศักยภาพในการค้นคว้าวิจัยเป็นนักวิจัยระดับสูงตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2533(สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย 2533:228-232) มีความเพียบพร้อม เป็นนักวิชาการระดับสูงด้านทฤษฎี ดังนั้นหลายสถาบันการศึกษาจึงมีระบบการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาอย่างเข้มงวด เช่น ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษตามที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนด สอบผ่านความรู้ด้านสถิติและการวิจัย สอบผ่านความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนในระดับดุษฎีบัณฑิตสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมที่จะได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความเป็นนักวิชาการระดับสูงทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติจริงนั่นเอง

มหาวิทยาลัยหลักของประเทศจะเน้นความเข้มข้นด้านระบบคิดของนักศึกษาและเข้มงวดในการเรียนการสอน มีระบบการตรวจสอบคุณภาพ เช่น บางสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยมหิดลจะยังไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่สอบคัดเลือกผ่านเข้าเรียนระดับปริญญาเอกลงทะเบียนเรียนจนกว่าอาจารย์แน่ใจว่านักศึกษาผู้นั้นมีศักยภาพอย่างแท้จริงที่จะทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย มีเวลาและทุ่มเทให้กับการค้นคว้าหาความรู้ อ่านมาก อ่านแตกฉานและสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ นอกจากนี้นักศึกษาต้องมีความจริงจังที่จะทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยได้ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ว่านักศึกษาที่รับเข้าเรียนแล้วไม่ใส่ใจจริง ทำให้ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาในเวลาที่กำหนดได้ ทำให้เสียทั้งเวลา เสียงบประมาณและเสียโอกาสของคนอื่น

จากปรากฏการที่กล่าวมาจึงกล่าวได้ว่าการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกเกิดขึ้นเนื่องจากต้องการผลิตบุคลากร ระดับดุษฎีบัณฑิตของตนเองที่ส่งเสริมให้ทำวิจัยในประเทศมากขึ้นและคาดหวังว่าแต่ละสถาบันมีผู้ทรงคุณวุฒิเพียงพอที่จะเปิดสอนของตนเองได้ เพื่อสนองความเหมาะสมสำหรับประเทศไทยและเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียนต่างประเทศ แต่การจัดการเรียนการสอนในระยะแรกดูเหมือนว่าบุคลากรยังขาดความพร้อม ขาดประสบการณ์ด้านการวิจัยอย่างลึกซึ้งและขาดความครอบคลุมในมิติต่างๆ จึงดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามแนวประสบการณ์ที่ตนเองได้รับการสั่งสอนมามากกว่าเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ของตนเอง ทำให้เนื้อหาวิชายังเป็นการแปลจากหนังสือต่างประเทศ และขาดแคลนการค้นคว้าองค์ความรู้ของตนเอง

อย่างไรก็ดีการผลิตดุษฎีบัณฑิตกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของไทยในระยะต่อมา พบว่า อาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับนี้มาเป็นเวลานานเริ่มมีความรู้สึกท้อแท้มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่านักศึกษาดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบันต้องการเข้าเรียนเพียงต้องการรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตมากกว่าตั้งใจเรียนเพื่อแสวงหาและสร้างองค์ความรู้อย่างแท้จริง สังเกตได้จากการที่นักศึกษาค้นคว้าน้อย อ่านน้อย อ่านหนังสือไม่แตก เขียนหนังสือยังไม่เป็น และไม่ค่อยชอบพัฒนาตนเองทั้ง ๆ ที่มีแหล่งความรู้ทั้งตัวบุคลากรและเทคโนโลยีสื่อสารค่อนข้างทันสมัย และสามารถเข้าถึงอย่างง่ายดายในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาในปัจจุบันเริ่มมีพฤติกรรมจัดการเรียนการสอนแบบ“ขายปริญญาดุษฎีบัณฑิตมากขึ้น” เพื่อสนองกลุ่มบุคคลที่จะเป็นลูกค้าแบบทุ่มเททุกวิถีทาง(การเงิน) แต่ไม่ได้ทุ่มเทเรื่องการเรียนให้ได้ความรู้มากขึ้น ส่วนใหญ่มุ่งหวังนำไปใช้ทางการเมือง ธุรกิจและสนองกฎระเบียบใหม่ที่เปิดช่องว่างไว้ พฤติกรรมของกลุ่มบุคลากรในสถาบันการศึกษาดังกล่าวได้ทำลายคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดของประเทศไทยลงอย่างสิ้นเชิง

ปัจจัยเงื่อนไขของการประสบความสำเร็จและล้มเหลวในการจัดการศึกษา
เงื่อนไขของความสำเร็จและล้มเหลวในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีความแตกต่างกัน จำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ สถาบัน การศึกษาและผู้เรียน ในส่วนของสถาบันการศึกษาในยุคแรก ๆ ขาดบุคลากรอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เนื้อหาวิชามีจำกัดในวงแคบ ส่วนใหญ่ได้จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่เรียนมาจากต่างประเทศ ขาดสื่อ ขาดแหล่งค้นคว้าหาความรู้ทันสมัย กว้างขวางและลุ่มลึก ในส่วนของนักศึกษาที่สมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกมีจำนวนมาก สถาบันสามารถสร้างเกณฑ์คัดเลือกและได้นักศึกษาที่มีคุณภาพดี เลือกรับเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพเท่านั้น ในขณะที่ยุคปัจจุบัน สถาบันการศึกษามีอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถสูง มีประสบการณ์ด้านการวิจัยอย่างลึกซึ้ง มีเทคโนโลยีและแหล่งค้นคว้าเพียบพร้อม แต่ด้านนักศึกษากลับมีปัญหา โดยเฉพาะขาดความพร้อมที่จะเรียนรู้ ขาดการใฝ่รู้ อ่านหนังสือน้อย ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แต่สนใจเพียงจะได้รับปริญญาบัตร ผลจากการวิจัยของ พศิน แตงจวง (2548) พบว่า ปัจจัยเงื่อนไขสู่ความสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกอย่างมีคุณภาพ จำแนกออกเป็น การจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศไทยในอดีต และการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนี้
การจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศไทยในอดีต ประกอบด้วย
1) ปัจจัยเงื่อนไขด้านความพร้อมของสถาบัน ประกอบด้วย
1. เน้นที่ความลุ่มลึกด้านเนื้อหาและวิจัยของอาจารย์ผู้สอน(mean=4.727, SD= .457) โดยในอดีตจะพิจารณา
ความพร้อมของคณาจารย์ทั้งในด้านการสอนและการควบคุมการทำวิจัย ประสบการณ์การทำวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา(mean= 4.429, SD=.698) โดยมีการจัดสรรทุนสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย ศึกษาดูงานของอาจารย์(mean= 4.246, SD=.701) และใช้ความร่วมมือจากหลายภาควิชา (สหสาขาวิชา)
2. ความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งความรู้ (Resources accessibility) (mean=4.727, SD= .480) หมายความว่า
สถาบันต้องให้ความสำคัญของการจัดอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล
3. ความพร้อมด้านแหล่งความรู้ (Resources availability) (mean= 4.575, SD=.536) หมายความว่า สถาบัน
ต้องให้ความสำคัญของการจัดหาแหล่งความรู้อย่างกว้างขวาง
4. รูปแบบการบริหารจัดการหลักสูตรของสาขาวิชา(mean= 4.493, SD=.583) เน้นหนักวิชาการโดยเน้นการ
คัดเลือกผู้สมัครได้ตามมาตรฐาน ไม่คำนึงถึงปริมาณนักศึกษาที่รับได้และรายได้ของหลักสูตร มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ความรู้และมีผลงานตามมาตรฐาน ทำให้หลักสูตร ป.เอกในอดีตเน้นหลักการ มีความเข้มข้นมากและเน้นคุณภาพของนักศึกษาที่จบออกไปเทียบได้กับต่างประเทศ

ในขณะเดียวกันก็พบปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของสถาบัน ประกอบด้วย
1. ยังไม่เน้นการวิจัย เนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรกำหนดไว้ค่อนข้างหละหลวม ทำให้ส่วนใหญ่จะเน้นความรู้ในเชิงทฤษฎีที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่
2. ยังไม่เปิดมากนัก มีน้อยมาก เปิดปริญญาเอกเพราะผู้บริหารต้องการ การจัดการศึกษาระดับ ป.เอก ยังมีค่อนข้างน้อยเนื่องจากยังขาดความพร้อมหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้สอน แหล่งข้อมูลต่าง ๆ งบประมาณสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอนระดับ ป.เอก ฯลฯ เป็นต้น
3. สถานศึกษาไม่ดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกและทรัพยากรให้เพียงพอ ความไม่สมบูรณ์ของทรัพยากรมนุษย์ (อาจารย์) และทรัพยากรสนับสนุนอื่น ๆ (แหล่งข้อมูล หนังสืออ้างอิง ฯลฯ) แหล่งวิชาการต่าง ๆ ตำรา งานวิจัยเพื่อใช้ค้นคว้า แสวงหาความรู้เป็นไปได้โดยลำบาก แหล่งค้นคว้าข้อมูลมีน้อยมาก ความพร้อมด้านแหล่งความรู้น้อยมาก การเข้าถึงแหล่งความรู้ยากมาก หลักสูตรไม่ได้เน้นเทคโนโลยี ( IT) การเข้าถึงสารสนเทศค่อนข้างล่าช้า หลักสูตรไม่ได้เน้นความเป็นสากล หลักสูตรไม่ได้เน้นภาวะผู้นำ
4. อาจารย์รู้ไม่ลึกและไม่เติมเต็มความรู้ให้ทันสมัย ยังมีน้อย ไม่ค่อยมีคุณภาพทั้งผู้สอนและผู้เรียน ผู้สอนยัง ขาดแนวคิดในการจัดการศึกษาสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่ผู้เรียน ทรัพยากรด้านผู้สอนมีผู้มีวุฒิน้อย เน้นผู้สอนเป็นหลัก ให้ความ สำคัญกับเนื้อหาวิชามากกว่ากระบวนการวิจัย
2) ปัจจัยเงื่อนไขด้านความพร้อมของนักศึกษา
1. ระบบคิดวิเคราะห์ของนักศึกษา ประสบการณ์ด้านการวิจัยของนักศึกษา
2. สติปัญญาของนักศึกษา ทักษะด้านภาษาอังกฤษของนักศึกษา แต่ผู้เรียนขาดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ในการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ การบริหารเวลาของนักศึกษา
3. ทุนสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยของนักศึกษา นิสิตต้องขวนขวาย ตะเกียกตะกายเอง
4. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในประเทศจะมีคุณภาพต่ำกว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาต่างประเทศ ทั้งทางด้านทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และความสามารถในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ผู้จบการศึกษาระดับ ป.เอก มีความสง่างามมากกว่าในปัจจุบัน
การจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศไทยในปัจจุบัน
ผลการวิจัยพบปัจจัยเงื่อนไขด้านดี ประกอบด้วย
1. เน้นภาวะผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพมากขึ้น การสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยการวิจัย ให้ความสำคัญกับ
กระบวนการวิจัย การนำความรู้สู่สากลมากขึ้น
2. เน้นความเป็นสากล ด้านภาษาและคอมพิวเตอร์ มีสื่อ แหล่งการเรียนรู้มากขึ้น ระบบสารสนเทศสะดวก
สามารถค้นคว้าได้สะดวกและรวดเร็ว การมีเทคโนโลยีสารสนเทศพร้อมมากทำให้ค้นคว้าได้ทั่วโลก โลกทัศน์ของนิสิตกว้างไกลมีการเข้าถึงสารสนเทศดีมาก ในปัจจุบันดีกว่าอดีตมาก
3. ปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้ความสนใจในการจัดการศึกษาระดับ ป.เอก มากขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาที่สนใจได้
4. ดีขึ้นทุกอย่างจากเมื่อก่อน แต่ยังดีไม่พอ มหาวิทยาลัยหลักทุกที่ควรพยายามทั้ง 3 ด้าน (ทรัพยากรด้านผู้สอน ด้านแหล่งความรู้ แหล่งความรู้) ให้มากกว่านี้
โดยมีปัจจัยเงื่อนไขด้านข้อจำกัด ประกอบด้วย
1. ขยายกว้างมาก เปิดหลักสูตรปริญญาเอกโดยที่ยังขาดอาจารย์ที่จบ Doctor ในสาขาวิชานั้น ๆ ปัจจุบันเปิดการ
สอนคุณภาพต่ำลง มีบางมหาวิทยาลัยทำเพื่อการหาเงินเพื่อให้อาจารย์มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักการเมืองและคนร่ำรวยให้มีเกียรติเพราะได้ ป.เอก แต่ทำลายระบบคุณภาพ คุณธรรมของสังคม
2. และมีสาขาหลากหลายมากเกินความจำเป็น มีเปิดหลายสถาบัน ความเข้มข้นน้อยลง น่าเป็นห่วงในเรื่อง
คุณภาพ ค่อนข้างจะเน้นที่ปริมาณและรายได้ สถาบันต่าง ๆ แข่งขันกันในทางปริมาณมากเกินไป หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้อีกไม่นาน ปริญญาเอกจะเป็นปริญญาโหล การจัดและบริหารหลักสูตรเน้นในเชิงธุรกิจโดยคำนึงถึงปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพในด้านวิชาการ อาจารย์ไทยใจดี สงสาร นิสิต อาจารย์ไทยไม่ใส่ใจต่อหน้าที่อาจารย์ที่ต้องพัฒนานิสิต ทำให้การเรียนการสอนไม่ดี
3. ก็ยังไม่ต่างจากอดีตมากนัก ยังมีคุณภาพไม่ทัดเทียมในต่างประเทศและเริ่มมีแนวโน้มการตลาดมากขึ้น มี
มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดสอนในระดับปริญญาเอก แต่ไม่เน้นคุณภาพของการศึกษาในระดับนี้ ทำให้เรียนง่ายเกินไปเหมือนเรียนจบไปแล้วไม่มีความรู้อะไร งานวิจัยก็ทำไม่เป็น ทำให้ผู้ที่ตั้งใจผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการวิจัยเข้มงวดกับการเรียนการสอน บางครั้งรู้สึกท้อถอยบ้าง
4. รัฐให้ทุนสนับสนุนการสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกน้อยมาก อาจารย์มหาวิทยาลัยในสายสังคม-มนุษย์
ไม่เกาะติดการวิจัยอย่างจริงจังแต่หันไปเอาดีทางอื่นมากกว่า การวิจัยไม่ได้เป็น mandate ของอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่สอนไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ ขาดการอ่านและค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขาดการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพของตน
5. หน่วยกิตวิทยานิพนธ์มากเกินไป (48 นก.) ควรให้เรียนรายวิชาเนื้อหาให้มากกว่านี้และการฝึกประสบการณ์
วิชาชีพ มีความสับสนระหว่าง ป.เอกเชิงวิชาการกับ ป.เอกเชิง professional ซึ่งควรต่างกันในโครงสร้างเพราะมุ่งเน้นต่างกัน เกณฑ์การเข้าเรียนไม่ยืดหยุ่น ทำให้ผู้มีศักยภาพสูงบางคนไม่มีโอกาสเข้าเรียนในบางสถาบัน
6. บางหลักสูตรเทียบเท่ามาตรฐานสากล มีความแตกต่างในแต่ละหลักสูตรและแต่ละสาขาวิชาการ แต่บาง
หลักสูตรเทียบได้กับต่างประเทศประเภทห้องแถวกว่า 50%

ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศไทย
ข้อสังเกตด้านสถาบันการศึกษา
1. ไม่ควรผลิตเชิงปริมาณหรือ เน้นธุรกิจการศึกษามากเกินไป บางหลักสูตรมุ่งเน้นการหารายได้มากไป เปิด
มากมาย และเน้นเชิงปฏิบัติมากกว่าการพัฒนาองค์ความรู้ที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสากล ควรเน้นคุณภาพและมีความชัดเจนในทางวิชาการ และควรมีหน่วยงานกลางที่มีประสิทธิภาพตรวจรับประกันคุณภาพ
2. ต้องควบคุมมาตรฐานให้อยู่ในระดับเดียวกันทุกสถาบัน นอกจากนี้รัฐควรสนับสนุนพัฒนาบุคลากรของ
มหาวิทยาลัยหลักให้จบระดับปริญญาเอกและมีความพร้อมที่จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรจากสถาบันอื่น
3. อาจารย์อาวุโสใกล้เกษียณมีปริมาณค่อนข้างมากในแต่ละสถาบัน สถาบันจะต้องดูแลและส่งเสริมอาจารย์ที่ ยังมีความอาวุโสน้อยให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับอาจารย์เหล่านั้น

ข้อสังเกตด้านนักศึกษา
1. ถึงแม้ว่าจะพบว่านิสิตนักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ดีขึ้น (ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองดีขึ้น) ทำให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในประเทศ มีความรู้ด้านทฤษฎีไม่แตกต่างจากผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ยกเว้นทักษะด้านภาษาอังกฤษยังอ่อนกว่า
2. ในปัจจุบันมีผู้เสนอตัวคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอกมีมาตรฐานลดลง เนื่องจากคนที่มีความสามารถสูงไม่ทะเยอทะยานที่จะศึกษาต่อ ทำให้คนด้อยความสามารถทะเยอทะยานสามารถเข้ามาเรียน ซึ่งมีผลทำให้แต่ละหลักสูตรได้ผู้เรียนที่ไม่ทุ่มเท ไม่อยากได้ความรู้ แต่อยากได้วุฒิบัตร ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาผู้ผลิตดุษฎีบัณฑิตต้องมีมาตรฐาน
3. ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทมีปริมาณมากขึ้นเนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาเกือบทุกแห่งจัดการศึกษาระดับนี้
และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทมีความต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาเอกสูงโดยเฉพาะสาขาวิชาบริหารการศึกษา

แนวโน้มหรือที่อยากเห็นในการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในอนาคต
ด้านสถาบันการศึกษา

1. รัฐและสถาบันจัดสรรทุนวิจัยสนับสนุนการศึกษาให้มาก เพื่อให้ทั้งนิสิตและอาจารย์ได้ทำการค้นคว้าวิจัยอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้การผลิตดุษฎีบัณฑิตมีคุณค่าแก่สังคม มีความเป็นนานาชาติ
2. รัฐและสถาบันสนับสนุนให้มีผู้เรียนและผู้สอนเป็นชาวต่างชาติทำการสอน วิจัยร่มกัน ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความลุ่มลึกในวิชาการ ในขณะเดียวกันก็ควรเน้นด้านคุณธรรม และจริยธรรมวิชาชีพด้วย
3. รัฐและสถาบันจัดเวลาให้อาจารย์มีเวลาเต็มที่กับการค้นคว้าศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ได้จริง มีวิสัยทัศน์กว้าง และถ่ายทอดความรู้ ทั้งเนื้อหาและการวิจัยให้นักศึกษาเต็มที่ นอกจากนี้อาจารย์ควรหาโครงการวิจัยและให้นักศึกษามาเป็นผู้ช่วยวิจัยมาก ๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้คู่การปฏิบัติ
4. รัฐและสถาบันจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและทรัพยากรสนับสนุนเต็มที่ เน้นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มี resources ที่เพียงพอต่อการค้นคว้าได้แก่ textbooks, Journals, Internet, Dissertation- Abstract + Full paper เนื่องจากนักศึกษาและอาจารย์พึงได้ค้นคว้าหาความรู้จากเอกสาร สื่อต่าง ๆ ที่ทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ควรส่งเสริมการใช้และยืมเอกสารต่าง ๆ ข้ามสถาบันได้ในราคาถูก
5. หลักสูตรมีการบูรณาการ เน้นการเรียนการสอนแบบ research based ให้มากขึ้น ตัวหลักสูตรต้องมีความเป็นสากล เน้นการวิจัยและค้นคว้าอย่างลุ่มลึก เน้นการเรียนรู้ทั้งทฤษฎี ปฏิบัติและการวิจัย
6. จากสภาพที่ปรากฏสถาบันต่าง ๆ ต่างแข่งขันกันเปิดสอนระดับปริญญาเอกในทางปริมาณมากเกินไป หาก สถานการณ์เป็นเช่นนี้อีกไม่นาน ปริญญาเอกจะเป็นปริญญาโหล จึงอยากเห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาที่เสนอหลักสูตรระดับปริญญาเอกพึงพิจารณาให้ดีว่าทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่มีคุณภาพดีและพร้อมหรือไม่ มีทรัพยากรอื่น ๆ สำหรับทำให้การศึกษาต่อเป็นไปอย่างมีคุณภาพดีและเพียงพอหรือไม่ อยากให้รักษามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาของสถาบันไว้ โดยไม่ปรับลดตามกระแสหรือสภาวการณ์แวดล้อม นอกจากนี้พึงระลึกเสมอว่าการเรียนการสอนในระดับ ปริญญาเอก ควรเน้นที่คุณภาพ ควรจัดให้แตกต่างจากระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เช่น จำนวนนักศึกษาในชั้นเรียนควรมีปริมาณที่เหมาะสม ควรใช้ผู้สอนที่มีคุณวุฒิตรงตามเนื้อหาวิชาจากหลายสถาบันร่วมกันสอน การจัดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนอย่างมาก
7. สถาบันการศึกษาพึงสร้างบุคลากรต้นแบบคืออาจารย์ที่มีวุฒิและมีประสบการณ์วิชาการสูง ๆ รองรับ
หลักสูตรต่าง ๆ โดยการสนับสนุนให้อาจารย์ผู้สอนเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับประเทศหรือระดับนานาชาติในสาขาวิชาที่สอนอยู่เสมอ อาจารย์ที่สอนต้องหมั่นติดต่อความเจริญก้าวหน้าในวิชาการที่สอน เพื่อว่าจะได้มีการพัฒนาองค์ความรู้และมีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนักวิชาการระดับนานาชาติอยู่ตลอดเวลา
8. สถาบันการศึกษาพึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้า ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ศึกษาวิจัยปัญหาของเราเองและแนวทางแก้ปัญหา อยากเห็นการแลกเปลี่ยนความรู้กับต่างประเทศมากขึ้น จัดให้มีหลักสูตรที่มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล จัดโอกาสให้นิสิตได้ไปศึกษาดูงาน ศึกษาบางรายวิชา ทำวิจัยร่วมกับชาวต่างประเทศและนำเสนอผลงานระดับนานาชาติโดยมีเงินทุนสนับสนุน
9. การจัดการศึกษาระดับ ปริญญาเอก น่าจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นในด้านงบประมาณหรือแหล่งข้อมูลทางวิชาการต่าง ๆ ความยืดหยุ่นควรเป็นสหสาขาที่สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมและผู้เรียนในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ผู้เรียนพึงสามารถ transfer หน่วยกิตของวิชาที่อยู่ต่างสถาบันโดยใช้การเทียบเคียงกับวิชาที่บังคับเรียน/เลือกเรียน มีการ transfer หน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศ/ต่างประเทศ เพื่อให้นิสิตได้ไปศึกษาวิชาเลือกที่สนใจข้ามสถาบันได้
10. มีการปรับหน่วยกิตวิชาเรียนกับวิทยานิพนธ์ให้ถ่วงดุลกัน โปรแกรมเน้นวิจัยอย่างเดียวควรจัดเฉพาะ
สถาบันที่มีความเข้มแข็งทางวิจัยจริง ๆ มีศูนย์วิจัยเฉพาะทางรองรับ
11. การประกันคุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอน ปริญญาเอกที่เป็น national standard และมีการติดตาม (audit) อย่างแท้จริง อย่างน้อยก็เชื่อว่าจะทำให้คุณภาพบัณฑิตดีขึ้น ต้องการเห็นหน่วยงานรับประกันคุณภาพ
12. การเรียนบางรายวิชาเป็นภาษาอังกฤษ ให้เลือกทำวิทยานิพนธ์เป็นไทยหรืออังกฤษก็ได้
13. การจัดหลักสูตรในลักษณะที่เป็นหลักสูตรเน้นความเชี่ยวชาญ ชำนาญเฉพาะตัว (tailor made) ให้มีมากขึ้น การร่วมมือผลิตดุษฎีบัณฑิตโดยดึงศักยภาพของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เด่นในแต่ละด้านมาร่วมกันทำงาน แทนที่จะเปิดสอนในสาขาซ้ำ ๆ กัน ควรส่งเสริมการเรียนข้ามมหาวิทยาลัย/ การใช้คณาจารย์จากสถาบันต่าง ๆ มาร่วมกันให้มากขึ้น

ด้านนักศึกษา
1. นิสิตมีจิตใจใฝ่รู้ มีเวลาทุ่มเทเต็มที่ เพื่อว่านิสิตจะได้สาระ องค์ความรู้ในสาขาวิชาซึ่งมี
ประโยชน์ต่อวงวิชาการ เพื่อให้นิสิตเป็นผู้นำที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ดุษฎีบัณฑิตควรมีคุณภาพเท่าเทียมกับผู้ที่จบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษาต่างประเทศและการวิจัย อยากเห็นคนที่จบปริญญาเอกมีความรู้จริง ๆ ปฏิบัติได้จริง ๆ สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์และสร้างสรรค์สิ่งที่ดี และเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศด้วย
2. แม้ว่าจะมีบุคคลมีความต้องการเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาสูงขึ้นในปริมาณที่มากขึ้นซึ่งเป็นแนวโน้มที่ ดี แต่ไม่ต้องการเห็นว่าผู้เรียนอยากได้ใบประกาศมากกว่าอยากได้ความรู้ สถานการณ์เช่นนี้จะทำอย่างไร นอกจากนี้ ผู้ที่จบยังเกาะติดกับกระบวนการวิจัย มิใช่หันไปหาตำแหน่งบริหารซึ่งทำให้ความรู้ที่ได้รับถูกนำไปใช้น้อยมาก

บทสรุป
จากจุดเริ่มต้นของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในโลกที่เริ่มเมื่อราวศตวรรษที่ 19 ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างชาติ (nation building) ให้พัฒนาองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ สำหรับในประเทศไทยสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีประกาศพระบรมราชโอการ ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชพลเรือนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2459 นับจากนั้นอีกกว่า 6 ทศวรรษต่อมา คือราวปีการศึกษา 2525 ก็ได้มีสถาบันอุดมศึกษาชุดแรกจำนวน 4 แห่งเริ่มเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ขึ้นเป็นครั้ง

จากจุดเริ่มต้นที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ค่อนข้างหละหลวม (เกณฑ์มาตรฐานในปี พ.ศ. 2527) คือ กำหนดเฉพาะหน่วยกิตที่ต้องเรียน ไม่ได้กำหนดหน่วยกิตวิทยนิพนธ์ ทำให้แต่ละสถาบันการศึกษากำหนดหน่วยกิตวิทยานิพนธ์แตกต่างกันออกไปและเป็นเหตุให้การจัดการศึกษาในช่วง แรก ๆ ดำเนินการตามปรัชญาการศึกษาไทยและยึดเนื้อหาวิชาตามแนวความคิดของทฤษฎีทุนมนุษย์ หรือ Human Capital Theory ที่เชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสังคมและโอกาสก้าวหน้าส่วนบุคคลมีอิทธิพลค่อนข้างสูงมากในหมู่นักวิชาการและวางแผนพัฒนาทั่วโลก จนกระทั่งอีกราว 7 ปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2533 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรขึ้นใหม่ โดยได้กำหนดโครงสร้างหน่วยกิตวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกไว้ว่า หลักสูตรที่สร้างใหม่หรือปรับปรุงใหม่จะต้องกำหนดจำนวนหน่วยกิตวิทยานิพนธ์ไม่ต่ำกว่า 36 หน่วยกิต
การเรียนการสอนในระยะเริ่มแรกจะเน้นเนื้อหาและผู้สอนเป็นสำคัญ ในส่วนของเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาจากตะวันตก เนื่องจากแนวความเชื่อหรือปรัชญาตามที่กล่าวแล้ว ประกอบกับอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกยังมีปริมาณน้อยและมีประสบการณ์การค้นคว้าวิจัยน้อย ทุนเพื่อทำการวิจัยสื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนการสอนอยู่ในวงจำกัด จึงทำให้สามารถรับนิสิตนักศึกษาในแต่ละสาขาวิชาแต่ละรุ่นจำกัดเพียง 1-5 คนเท่านั้นด้วยกระบวนการคัดเลือกที่ค่อนข้างเข้มงวด และไม่ได้รับเข้าเรียนทุกปีการศึกษา ทำให้ปริมาณการสำเร็จการศึกษามีปริมาณน้อยจนไม่เป็นที่จูงใจให้เข้าเรียนแต่อย่างใด ทำให้ผู้ที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งด้านภาษาอังกฤษ วิชาการและเงินทุนมุ่งไปศึกษาต่อต่างประเทศจำนวนมาก การที่แต่ละสาขาวิชามีปริมาณอาจารย์น้อยและขาดประสบการณ์ที่กว้างขวางจึงทำให้วิทยานิพนธ์มีแนวคิดคล้อยตามอาจารย์มากกว่ามีอิสระ สร้างสรรค์อย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในปัจจุบันแม้ว่าจะมีความพร้อมในเกือบทุกด้าน คือ ด้านอาจารย์ผู้สอน สื่อ เทคโนโลยีก็ตาม แต่ปรากฏว่าทั้งผู้เรียนและผู้จัดการศึกษาต่างให้ความสำคัญต่อการแสวงหาความรู้ การวิจัยอย่างจริงจังลดลง ผู้เรียนอ่านและใฝ่หาความรู้ลดลง ต่างไปมุ่งแสวงหากำไร จัดการศึกษาแบบธุรกิจมากเกินไป อาจารย์จำนวนหนึ่งทำตัวเป็นพหูสูตร รู้และเชี่ยวชาญหมดทุกอย่าง(อ่านไปบอกต่อ) รับจ้างเป็นผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายเกือบทุกสาขาวิชาและเกือบทุกมหาวิทยาลัย จนเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าจะผลิต “ปริญญาเอกโหล” ในที่สุด

ผู้เขียนเห็นว่าในการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกจะต้องมีกระบวนการที่แตกต่างไปจากกระบวนการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท กล่าวคือ หลักสูตรปริญญาเอกที่ดีจะต้องมีความพร้อมในด้านการวิจัย นั่นคือจะต้องมีศูนย์วิจัยที่มีประสบการณ์ในการทำการวิจัยสาขาวิชานั้น ๆ ในระดับชาติและนานาชาติให้การรับรอง รองรับ ศูนย์วิจัยนั้นจะต้องเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning organization) โดยมีอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ และสัมพันธ์กันทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีประสบการณ์ด้านการทำวิจัยอย่างแท้จริง มีความลุ่มลึก มีความพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาได้อย่างดี มีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง มีห้องค้นคว้าทดลองของนิสิตนักศึกษา มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้และเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างสะดวกและตลอดเวลา

บรรณานุกรม
กฤษณมูรติ(2545). แห่งความเข้าใจชีวิตและการศึกษา.(พิมพ์ครั้งที่ 4) แปลโดยโสรีช์ โพธิแก้ว. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ เฟื่องฟ้า.
เกลียวพรรณ์ ขำโนนงิ้ว และคณะ (2546). คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายตามความคิดเห็นของนายจ้างในจังหวัดเชียงราย. การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร.
เกษม สุวรรณกุล (2531). ทิศทางของมหาวิทยาลัยไทย. เอกสารทางวิชาการ โครงการตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
คำหมาน คนไค (2546). “ธุรกิจการศึกษา”. สานปฏิรูป. ปีที่ 6 ฉบับที่ 64 สิงหาคม.
จันทร์เพ็ญ เชื้อพานิช (2537). การวิเคราะห์และสังเคราะห์วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานการวิจัย (อัดสำเนาเย็บเล่ม).
ธีระ ทองยี่สุ่น (2529). การติดตามผลปฏิบัติงานบัณฑิตวิทยาลัย สาขาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2521-2528 ในทัศนะของตนเองและผู้บริหาร เนื้อความย่อวิทยานิพนธ์ พ.ศ. 2529 กรุงเทพฯ: ศูนย์ส่งเสริมการฝึกอบรม เกษตรศาสตร์.
นท.หญิงทิพยรัตน สีเพชรเหลือง (2544). “แนวโน้มสถาบันอุดมศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 เพื่อการศึกษาตลอดชีวิต : มหาวิทยาลัยบรรษัท” ใน พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ (บรรณาธิการ). การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา : รวมบทความทางวิชาการ. กรุงเทพฯ: ศูนย์ตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พศิน แตงจวง (2545). ปรัชญาและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาการศึกษานอกระบบในสถาบันอุดมศึกษา. รายงานการวิจัย เสนอคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
________ (2548). พัฒนาการของรูปแบบการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอก กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์รายงานการวิจัย เสนอคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พศิน แตงจวง อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์และต่าย เซี่ยงฉี (2546). ความพึงพอใจของนายจ้างที่มีต่อบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สำเร็จการศึกษาปี 2540-2544. รายงานวิจัยเสนอ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (2530). “จุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยไทย ความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง” ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และสินธะวา คามดิษฐ์ (บรรณาธิการ) 2530 มหาวิทยาลัยกับสังคม ไทย รวมบทความคัดสรร โครงการตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เมธี ปิลันธนานนท์ (2546). ประเด็นคำถามเพื่อการทำแผนกลยุทธ์ของสถาบันอุดมศึกษา เอกสารประกอบการเสนอในที่ประชุมทางวิชาการ สออ.ประเทศไทย ครั้งที่ 10 เรื่อง Pursuing Knowledge: The Role of Universities amid Global and National Changes 27 มกราคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.
ยงยศ พรตปกรณ์ (2544). “รูปแบบใหม่สถาบันอุดมศึกษา : มหาวิทยาลัยเสมือน” ใน พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ (บรรณาธิการ). การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา : รวมบทความทางวิชาการ. กรุงเทพฯ: ศูนย์ตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิไลวรรณ เอี่ยวเจริญ (2530). การติดตามผลบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวรรณคดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่ม 2 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เจริญผล.
เสน่ห์ จามริก (2530). “ความเสมอภาคและบทบาทอุดมศึกษาไทย” ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และสินธะวา คามดิษฐ์ (บรรณาธิการ) 2530 มหาวิทยาลัยกับสังคมไทย รวมบทความคัดสรร โครงการตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (2525) . ประมวลชื่อหลักสูตรและปริญญาสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : กิจสยามการพิมพ์.
___________(2530). ประมวลชื่อหลักสูตรและปริญญาสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ประกายพรึก.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2544). แนวทางการปฏิรูปการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.ที.ซี. คอมมิวนิเคชั่น.
สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ (2513). รายงานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ปีการศึกษา 2513. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
อรพันธ์ เจือศิริภักดี (2530). “มหาวิทยาลัยไทยกับการถ่ายทอดความรู้ตะวันตก” ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และสินธะวา คามดิษฐ์ (บรรณาธิการ) 2530 มหาวิทยาลัยกับสังคมไทย รวมบทความคัดสรร โครงการตำราและเอกสารทาง วิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อุทัย ดุลยเกษม (2546). “ปรารมภ์เรื่องศักยภาพของมหาวิทยาลัย” สานปฏิรูป. ปีที่ 6 ฉบับที่ 64 สิงหาคม.
Carr, D. (2003). Making Sense of Education. New York : RoutledgeFalmer.
Ministry of University Affairs (1996). Modalities of University-Industry Cooperation in the APEC Region. Bangkok: The Brooker Group, Ltd.
Rorty, Amelie O. (2001). “The Ruling History of Education” in Rorty, Amelie O.(Editor) Philosophers on Education: Historical Perspectives. London: Routledge.
Rutgers University. University Strategic Plan http://oirap.rutgers.edu/strategic/
Samoff, J. (2003). “Institutionalizing International Influence” in Arnove, R.F. & Torrres, C. A.(Eds.). Comparative Education: The Dialectic of the Global and the Local (2nd Ed). Oxford: Rowman & Littlefield Publishers, Inc.
Schugurensky, D. (2003). “Higher Education Restructuring in the Era of Globalization: Toward a Heteronomous Model? in Arnove, R.F. & Torrres, C. A.(Eds.). Comparative Education: The Dialectic of the Global and the Local (2nd Ed). Oxford: Rowman & Littlefield Publishers, Inc.
Tangchuang,P. (2003). Bridging th Knowledge Gap via Knowledge Networks among APEC Economies. A Paper Presented at APEC Study Center Consortium Conference 2003 “Extending and Reaching out the Benefits of APEC” Sheraton Grande Laguna, Phuket 25-28 May.
Tangchuang, P. Mounier, A. and Pongwart, A. (2004). Cooperative Skills Formation as a Way of Bridging the Knowledge Gap Through Regional Cooperation. A paper presented at ASAIHL Conference February at Sripatoom University.

ไม่มีความคิดเห็น: