วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ผลกระทบการรับรู้เรื่องโรคเอดส์ต่อโครงสร้างทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในภาคเหนือ

พศิน แตงจวง 2541
บทคัดย่อ
การวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพโครงสร้างทางสังคม กระบวนการทางสังคมที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์อาศัยอยู่ และศึกษาความคิดเห็นของประชาชนต่อการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โรคเอดส์ เก็บข้อมูลโดยวิธีผสมผสานทั้งเชิงปริมาณ กับผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการสถานเริงรมย์ สถานพยาบาล ผู้ป่วยเอดส์เต็มขั้น หรือ ARC หรือมีเชื้อ HIV+ ที่เป็นชาวเขาและชาวชนบทจากอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูนและพะเยา จำนวน 460 คน และเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์แพทย์ พยาบาลจากสถานพยาบาล ผู้ป่วยเอดส์และผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 32 คน ผลการวิจัยพบว่า
โครงสร้างทางสังคมและกระบวนการทางสังคมในชุมชนก่อนมีผู้ป่วยโรคเอดส์อาศัยอยู่ มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ช่วยเหลือกัน ไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนกันอย่างอบอุ่น มีวัฒนธรรมเข้มแข็ง มีการนับถือผีปู่ย่าเพื่อควบคุมพฤติกรรม มีการเคารพผู้สูงอายุ มีประเพณี ความเชื่อที่ช่วยขัดเกลาให้สมาชิกมีค่านิยมแบบสงบ เรียบง่าย หลังจากที่ชุมชนมีการติดต่อสื่อสารกับภายนอกมากขึ้น ทำให้ต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นและมองเห็นช่องทางการทำมาหากิน ได้เคลื่อนย้ายแรงงานออกไปทำงานในเมือง ในโรงงานอุตสาหกรรมช่วงนอกฤดูการเกษตร ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2534 ชาวนาชาวไร่ส่วนใหญ่ขายที่ดินที่นา ทำให้คนที่ไม่ขายที่นาไม่สามารถทำนาได้เพราะขาดแรงงาน ขาดการช่วยเหลือเกื้อกูล ขาดอำนาจการต่อรอง ขาดกลุ่มพลังทางภูมิปัญญาที่ช่วยกันแก้ไขปัญหา กลุ่มที่ขายที่ดินกลายเป็นเศรษฐีใหม่ ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย ทำให้ผู้ที่ไม่มีเงิน ไม่มีวัตถุรู้สึกเสียหน้า เข้ากับใครในหมู่บ้านไม่ได้ รู้สึกอับอาย จึงต้องขวนขวายซื้อมาโดยผลักดันให้ลูกหลานไปทำงานในเมือง ทำให้วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของคนเปลี่ยนแปลงไป เกิดการเลียนแบบ ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย เที่ยวเตร่ตามสถานเริงรมย์ไม่ว่าเด็กวัยรุ่น หรือมีครอบครัวแล้วก็ตาม
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เศรษฐีใหม่และชาวบ้านเริ่มประสบปัญหา เมื่อเงินที่ขายที่นาหมดลง ต้องว่างงาน ไม่มีรายได้ ทำให้วัยหนุ่มสาวส่วนหนึ่งที่จบการศึกษาภาคบังคับ(ป.6) หรือแม้แต่คนที่มีครอบครัวต้องออกไปทำงานต่างถิ่น เหลือแต่คนแก่อยู่เฝ้าบ้านกับเด็กวัยเรียนหนังสือ การออกไปทำงานนอกชุมชนทำให้ความเข้มแข็ง การพึ่งพา ความเชื่อและค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับโรคเอดส์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ชุมชนวุ่นอยู่กับการไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยโรคเอดส์ ต้องเรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นลูกหลาน ญาติ ทำให้เวลาทำมาหากินลดลงเป็นเหตุทำให้สังคมเกิดความอ่อนแอลงอีก ผู้อาวุโสต้องไปร่วมกิจกรรมงานศพเกือบทุกวัน ทุกคนวุ่นวายใจ กังวลใจ เนื่องจากศพที่เกิดจากโรคเอดส์ส่วนใหญ่เป็นศพวัยหนุ่มสาว เด็กกำพร้ามีปริมาณเพิ่มขึ้น ขาดคนดูแล ขาดความรัก ขาดความอบอุ่นขาดคำชี้แนะอบรมสั่งสอน เกิดทุพโภชนาการ คุณภาพการศึกษาต่ำและเกิดปัญหามากมาย เด็กที่พ่อแม่ป่วยเป็นเอดส์ไม่สามารถเล่นกับเด็กคนอื่น เนื่องจากถูกรังเกียจ มีผลกระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก
มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงวิธีการจัดการศึกษาใหม่แบบถอนรากถอนโคนเพราะสิ่งที่ปรากฏเกิดจากความล้มเหลวของการจัดการศึกษาในอดีต ควรเน้นให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ค้นคว้าหาความจริงมากกว่าการท่องจำ นักพัฒนาพึงใส่ใจในปัญหาที่เป็นจริงโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ หาความจริงและหาทางแก้ปัญหาภายในชุมชนแบบ “จิ๋วแต่แจ๋ว” พึงส่งเสริมให้ชุมชน รัก หวงแหนวัฒนธรรมของตนเอง ให้มีการพึ่งพาตนเอง มากกว่าหวังพึ่งพาจากภายนอก พึงสร้างให้รู้จักยอมรับความผิดพลาด ความบกพร่องของตนเองมากกว่ากล่าวโทษผู้อื่น ในระดับรัฐบาลพึงส่งเสริม กระตุ้นให้เกียรติชุมชนว่ามีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาของตนเอง พึงให้รางวัลชุมชนที่พึ่งตนเองได้ด้วยภูมิปัญญา

คำสำคัญ: ผลกระทบจาก AIDS ชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ การเคลื่อนย้ายแรงงาน โครงสร้างทางสังคม การรับรู้

บทนำ
นับตั้งแต่โรคเอดส์ได้ถูกค้นพบและแพร่กระจายทั่วโลก ผู้ค้นพบเชื้อเอดส์คนแรกเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ Luc Montagnier และคณะโดยสามารถแยกเชื้อได้จากต่อมน้ำเหลืองของคนไข้ที่เป็นรักร่วมเพศ และป่วยเป็นโรคเอดส์ในปี ค.ศ. 1983 ให้ชื่อไวรัสนี้ว่า Lymphadenopathy Associated Virus หรือ LAV ในปี พ.ศ. 2527 Robert Gallo และคณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกาสามารถแยกเชื้อเอดส์ได้จากเม็ดเลือดขาวของคนไข้โรคเอดส์และตั้งชื่อว่า Human T-cellLympho-tropic Virus TypeIII (HTLV - III) ต่อมาพบว่า LAV และ HTLV-III เป็นไวรัสตัวเดียวกัน แต่เรียกชื่อที่แตกต่างกันไป จึงได้ตกลงตั้งชื่อเรียกเป็นสากลว่า Human Immunodeficiency Virus (HIV)
คนป่วยโรคเอดส์ถูกค้นพบในประเทศไทยครั้งแรกและเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2527 จำนวน 1 ราย เป็นชายไทยที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกามีพฤติกรรมเป็นชายรักร่วมเพศ ต่อมาได้ค้นพบจากการตรวจเลือดว่ามีประชากรชาวไทยติดเชื้อ HIV+ และกลายเป็นพาหะนำเชื้อ จนถึงขั้น ARC และเป็น AIDS เต็มขั้นในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2527 พบผู้เป็น AIDS เต็มขั้น จำนวน 1 ราย ในปี พ.ศ. 2532 พบผู้เป็น AIDS เต็มขั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 12 ราย ขั้น ARC จำนวน 67 ราย 1 มีนาคม 2535 พบคนป่วยเป็นเอดส์เต็มขั้นเพิ่มจำนวนเป็น 367 ราย ขั้น ARC จำนวน 612 ราย ในปี พ.ศ. 2540 มีผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 70,013 คน ผู้ติดเชื้อที่มีอาการจำนวน 29,007 คนและผู้ติดเชื้อเอดส์ไม่แสดงอาการจำนวน 800,000 คน
คนไข้เอดส์รายแรกของภาคเหนือพบที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2530 เป็นชายขายบริการให้ชาวต่างชาติ อีก 1 ปีต่อมาได้พบเลือดบวกในหญิงขายบริการทางเพศรายแรก ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อเอดส์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีผู้เข้าไปใช้บริการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำนวนมาก ในขณะที่การแพร่กระจายโรคเอดส์ในกลุ่มชาวเขาเริ่มมีมากขึ้นเนื่องจากมีวัยรุ่นชาวเขาเข้ามาทำงานในเมืองและเที่ยวหญิงขายบริการทางเพศ ครั้นเมื่อกลับไปในชุมชน วัยรุ่นบางเผ่าสามารถมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวที่ตนรักก่อนแต่งงานได้ นอกจากนี้ปริมาณการหาหญิงชาวพื้นราบไปขายบริการทางเพศเริ่มหายากขึ้น จึงทำให้มีปริมาณความต้องการชาวเขาที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้เท่าทันไปเป็นหญิงขายบริการทางเพศในปริมาณสูง (Worldview Thailand, nd.: 2)
รายงานของสำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 10 พบว่าอัตราการติดเชื้อ HIV ในเขตภาคเหนือตอนบนสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประเทศ เช่น ในการตรวจเชื้อหญิงบริการในจังหวัดเชียงราย พบถึงร้อยละ 67 ชายที่มาตรวจ STD พบร้อยละ 24 และพบในหญิงมีครรภ์ถึงร้อยละ 2.5 ในขณะที่อัตราการติดเชื้อเฉลี่ยทั่วประเทศร้อยละ 14.9, 4.4 และ 0.2 ตามลำดับ (สำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 10 ม.ป.ป.: 1-2) เมื่อจัดลำดับผู้ติดเชื้อเอดส์แยกตามภาคต่าง ๆ สถาพร มานัสสถิตย์ (2534: 29) จัดให้ภาคเหนือมีผู้ติดเชื้อเอดส์เป็นอันดับ 2 รองจากภาคกลาง แต่เมื่อจำแนกระยะการป่วยพบว่าเป็น AIDS เต็มขั้นในจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราสูงสุด(กองระบาดวิทยา 2535: 6-7) อย่างไรก็ตาม นักวิชาการได้คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์มีปริมาณมากกว่าสถิติที่ปรากฏหลักฐาน มีแพทย์และพยาบาลจำนวนหลายท่านขอลาออกจากราชการ เนื่องจากพบว่าคนไข้ที่มาขอรับการรักษาส่วนใหญ่มีเชื้อเอดส์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีผู้ป่วยครอบครองเตียงคนไข้จำนวนถึงร้อยละ 25 ในปี พ.ศ. 2538 มีคนเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ถึงวันละ 2 คน(ธงชัย เติมประสิทธิ์ 2538) ในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาปริมาณการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์สูงขึ้นมาก เช่นบางหมู่บ้านในอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์เดือนละ 2-4 คน ในขณะที่บางหมู่บ้านในอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์สัปดาห์ละ 1 คน ทำให้สภาพบรรยากาศในชุมชนชนบทเงียบเหงาและมีภารกิจใหม่คือ การไปร่วมงานศพ แทนที่จะคุยกันเรื่องการทำมาหากิน แต่คุยกันว่าจะพาคนป่วยโรคเอดส์ไปรักษาที่ไหนดี มียาสมุนไพรที่ไหนบ้างที่จะช่วยอาการป่วยทุเราลงบ้าง แทนการไปร่วมกันทำงาน เอาแรงกันทำมาหากิน หรือร่วมกันพัฒนาชุมชนเฉกเช่นก่อน
เนื่องจากผู้ป่วยโรคเอดส์มักมีการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ในที่สุดร่างกายก็ไม่สามารถทนทานได้ (สถาบันเอดส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) การรักษาทำได้เพียงรักษาอาการของโรคแทรกซ้อน ซึ่งในที่สุดก็เสียชีวิตลง สถิติพบว่าผู้ติดเชื้อเอดส์มีอยู่ทุกกลุ่มอายุและอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร กลุ่มบริการทุกชนิด กระจายอยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ (กองระบาดวิทยา 2535: 5) หากคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องมารับเชื้อเอดส์จะทำให้ติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ใจไม่คิดประกอบอาชีพการงานหรือแม้จะทำงานก็ทำได้ไม่เต็มที่เพราะจะอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย ต้องเข้ารับการรักษาตัวอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายของครอบครัวสูง ยิ่งไปกว่านั้นประเทศชาติต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการที่จะต้องรักษาเยียวยา ค้นคว้าทดลองเพื่อหายามารักษา บริการสังคม หาสถานที่รักษาและดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยเอดส์ รวมทั้งหาทางควบคุมและป้องกันมิให้แพร่กระจายสู่ประชาชนทั่วไป
โรคเอดส์มิใช่โรคที่เป็นภาระของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อทุกฝ่ายรวมทั้งนักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศชาติ แต่นับตั้งแต่ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์ได้ถูกส่งไปสู่ชุมชนพบว่า ประชากรมีความแตกตื่น หวาดกลัวโรคเอดส์มากถึงขั้นฆ่าตัวตาย หรือขับไล่ผู้ป่วยโรคเอดส์ไปอยู่ห่างไกลชุมชน นอกจากนี้สถาพร มานัสสถิตย์ (2534: 137) ได้กล่าวว่า ชายที่เคยสำส่อนทางเพศกับหญิงบริการอาจเปลี่ยนรูปแบบไปมีภรรยาน้อยมากขึ้น ปริมาณการข่มขืนเด็กอาจมีเพิ่มมากขึ้น การมีเพศสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่นด้วยกันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แทนการไปเที่ยวหญิงขายบริการ
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าความเลวร้ายของโรคเอดส์ได้ถูกประมวลเป็นข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวจนก่อให้เกิดจุดร้าวฉานในสังคมที่ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ไปถึง และอาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ในแต่ละชุมชนคือเกิดสภาวะเกรงกลัวกันและกัน ตั้งข้อสงสัยว่าบุคคลข้างเคียงหรือเพื่อนฝูงหรือคู่รักมีเชื้อเอดส์หรือเปล่าซึ่งเป็นผลร้ายต่อโครงสร้างทางสังคมแบบพึ่งพาอาศัยอย่างมาก นอกจากนี้ยังสร้างปัญหาถึงสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครองอีกด้วยซึ่งนับเป็นปัญหาต่อสังคมอย่างมาก แต่การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและผลกระทบของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน สังคมยังไม่มีการดำเนินการอย่างมีระบบ การศึกษาข้อเท็จจริงและผลกระทบของข้อความรู้เรื่องโรคเอดส์ในกลุ่มชนต่าง ๆ น่าจะเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงเจตคติ ความเข้าใจจากประชากรกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำข้อความรู้เหล่านั้นมาวางแผนวิธีการให้ข้อมูลที่เปราะบางเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันกระบวนการทำลายโครงสร้างทางสังคมโดยเฉพาะในสังคมที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์ขั้นต่าง ๆ อาศัยอยู่ และในสังคมที่มีการแพร่กระจาย มีการรับเชื้อเอดส์และมีปริมาณผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์มากที่สุดคือภาคเหนือ ตอนบน
วัตถุประสงค์
1. ศึกษาสภาพโครงสร้างทางสังคมที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์ระดับต่าง ๆ อาศัยอยู่
2. ศึกษากระบวนการทางสังคมในชุมชนที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์ระดับต่าง ๆ อาศัยอยู่
3. ศึกษาความคิดเห็นของประชาชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ในชุมชน ต่อการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โรคเอดส์ในด้านต่าง ๆ

วิธีดำเนินการ
1. กลุ่มตัวอย่าง
1.1 การเลือกหมู่บ้าน ได้เลือกหมู่บ้านในกลุ่มชาวเขาและชาวชนบทมาจังหวัดละ 3 อำเภอ ๆ ที่มีลักษณะเด่น (ด้อย) คือ มีผู้ป่วยโรคเอดส์ขั้น Full blown หรือ ARC หรือมีเชื้อ HIV+ ที่พร้อมจะเปิดเผยตัว ให้ความร่วมมือให้รายละเอียดไม่น้อยกว่าอำเภอละ 40 คน มีโรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานเริงรมย์และอยู่ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน
1.2 การเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักเพื่อใช้สัมภาษณ์แบบเจาะลึก
1.2.3 ผู้ป่วยเต็มขั้น จำนวน 8 คน ได้แก่ ผู้ป่วยเต็มขั้นจากจังหวัดละ 2 คน
1.2.4 ผู้ติดเชื้อ HIV+ จำนวน 8 คน ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ HIV+ จากจังหวัดละ 2 คน
1.2.5 ผู้นำชุมชน/นักการเมืองท้องถิ่น จำนวน 8 คน ได้แก่ผู้นำชุมชนจากจังหวัดละ 2 คน
2. เครื่องมือ
ในการเก็บรวบรวมข้อมูลใช้ระเบียบวิธีเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณควบคู่กันไป ดังนี้
2.1 วิธีเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามปลายปิด กับกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในชุมชนเดียวกับผู้ป่วยโรคเอดส์เต็มขั้น และติดเชื้อ HIV/AIDS แบบสอบถามเป็นแบบเลือกตอบ แสดงความคิดเห็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า
2.2 วิธีเชิงคุณภาพ โดยใช้การสังเกตอย่างไม่มีส่วนร่วมและใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก
3. วิธีการรวบรวมข้อมูล
3.1 การสังเกต ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยซึ่งเป็นข้าราชการในชุมชนนั้น ๆ ได้สังเกต โดยมีขอบเขตการสังเกตเกี่ยวกับด้านการปฏิสัมพันธ์และการปฏิบัติต่อผู้ป่วย การอยู่กับผู้ป่วยโรคเอดส์
3.2 การสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัย ได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักทั้ง 32 คน ตามขอบเขตด้านเนื้อหา
3.3 การใช้แบบสอบถาม ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัย ให้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 460 คน กรอกแบบสอบถามเพื่อตรวจสอบความรู้สึกเจตคติที่มีต่อโรคเอดส์และการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยเอดส์ในแง่มุมต่าง ๆ ตามขอบเขตด้านเนื้อหา
4. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้ดำเนินการวิเคราะห์ควบคู่กับการหาข้อมูลเพิ่มเติมในภาคสนาม แล้วเขียนเชิงพรรณนา ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณได้ดำเนินการคำนวณ ค่าร้อยละ Mean, Standard Deviation, Chi – Square One way ANOVA และเปรียบเทียบเป็นรายคู่โดยวิธีของ Scheffe
ผลการวิจัย
สภาพโครงสร้างทางสังคมที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์ ในอดีตเป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีโครงสร้างทางครอบครัวแบบครอบครัวขยาย มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีการนับถือผีปู่ย่าคอยควบคุมพฤติกรรม มีประเพณีคอยขัดเกลาให้มีค่านิยมแบบสงบ ต่อมาผลจากการขยายฐานเศรษฐกิจตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 6 เป็นต้นมา ทำให้ความเจริญด้านสาธารณูปโภค ข้อมูลข่าวสารทั้งในแง่ดีและไม่สร้างสรรค์หรือมอมเมาประชาชน แพร่เข้าไปในชุมชนมากขึ้น ทำให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกลเมืองซึ่งมีอาชีพหลักทางภาคเกษตรกรรม มีรายได้พออยู่พอกินแบบเรียบง่าย มีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เกิดมีความต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นและมองเห็นช่องทางการทำมาหากินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ประชาสัมพันธ์ในสื่อสารมวลชน ได้เคลื่อนย้ายแรงงานออกไปทำงานในเมืองช่วงนอกฤดูการเกษตร เนื่องจากงานภาคเกษตรกรรมจะจ้างแรงงานช่วงสั้นและจ้างถูกกว่าค่าแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีรายได้เป็นเดือน ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2534 ชาวนาชาวไร่ได้ขายที่ดินที่นา ทำให้คนที่ไม่ขายที่นาไม่สามารถทำนาได้เหมือนเก่าเพราะขาดแรงงาน ขาดความสมดุลของระบบนิเวศน์ ขาดการช่วยเหลือเกื้อกูล การเห็นอกเห็นใจกันได้สูญหายไป ขาดอำนาจการต่อรอง ขาดผู้เชี่ยวชาญหรือกลุ่มพลังทางภูมิปัญญาที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา กลุ่มที่ขายที่ดินแล้วกลายเป็นเศรษฐีใหม่ มีเงินก้อนใหญ่ ได้ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยกับวัตถุนิยม บ้านไหนที่ไม่มีจะรู้สึกเสียหน้า เข้ากับใครในหมู่บ้านไม่ได้ รู้สึกอับอาย จึงต้องขวนขวายซื้อมาโดยผลักดันให้ลูกหลานไปทำงานในเมือง เศรษฐีใหม่มีรสนิยมใหม่ เช่น รับประทานอาหารนอกบ้าน หาความสำราญจากร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม ทำให้วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของคนเปลี่ยนแปลงไป เลียนแบบกันฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย เที่ยวเตร่ตามสถานเริงรมย์ไม่ว่าเด็กวัยรุ่นหรือมีครอบครัวแล้ว
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เศรษฐีใหม่และชาวบ้านเริ่มประสบปัญหา เมื่อเงินเก่าที่ขายที่นาหมดลง ร้อยละ 80 ต้องซื้อข้าวสารบริโภค เนื่องจากแหล่งทำกินมีจำกัดปริมาณคนมีมากกว่าปริมาณงาน เกิดการว่างงาน ไม่มีรายได้ ทำให้วัยหนุ่มสาวส่วนหนึ่งที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ป. 6) ถูกผลักจากครอบครัวให้ดิ้นรนหาเงินในเมืองใหญ่ ต่างจังหวัดหรือแม้แต่ขายบริการทางเพศ โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวหรือแม้แต่คนที่มีครอบครัวแล้วก็จำต้องจากครอบครัวไปทำงานต่างถิ่น ทำให้บางชุมชนเหลือแต่คนแก่อยู่เฝ้าบ้านกับเด็กวัยเรียนหนังสือ
ในช่วงปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เยาวสตรีที่เคยออกไปขายบริการทางเพศจำนวนหนึ่งกลับบ้านและได้นำเชื้อเอดส์กลับมาด้วยได้แต่งงานกับชายหนุ่มในหมู่บ้านโดยไม่รังเกียจอาชีพเก่าแต่อย่างใดเหมือนเช่นบรรพบุรุษ แต่เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อเอดส์สามารถแพร่โดยการมีเพศสัมพันธ์จึงมีผลให้มีปริมาณผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์สูงมากถึงเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 คน ทำให้กลุ่มแม่บ้านต้องหันมาผลิตสินค้าชิ้นใหม่คือ "พวงหรีด" "ดอกไม้จันท์" ไว้บริการให้แก่สมาชิก บางคนที่อยู่ในระยะเจ็บป่วยจะรู้สึกทนทุกข์ทรมานมากเนื่องจากทำงานหนักไม่ได้เหมือนก่อน ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ คนในครัวเรือนเองก็ไม่ค่อยดูแลกัน เด็กหลายคนกลายเป็นเด็กกำพร้า เนื่องจากพ่อแม่หย่าร้างกันหรือพ่อแม่เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กร เช่น ผู้ใหญ่บ้านประธานกลุ่มแม่บ้านบางแห่งไม่มีความสนใจที่จะแก้ปัญหา ทำให้ทางออกของผู้ป่วยเอดส์ไม่มี จึงต้องคิดว่าเป็นเวรเป็นกรรมที่เกิดมาจนจนต้องออกไปขายแรงงาน เสี่ยงโชคหรือขายบริการทางเพศ ในอาชีพขายบริการทางเพศนั้นฝ่ายหญิงไม่มีอำนาจการต่อรองกับแขกได้เลยและฝ่ายหญิงปฏิเสธมากไม่ได้ เพราะมีการศึกษาต่ำ ส่วนใหญ่ต้องปล่อยให้แขกปฏิบัติตามอำเภอใจว่าจะใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ที่ทำให้โรคเอดส์ระบาดไปทั่วและไม่มีทางหยุดได้ แต่การเปลี่ยนค่านิยมไม่ให้ลูกสาวไปขายบริการทางเพศนั้นเป็นเรื่องยากเพราะส่วนใหญ่มองวิธีการแก้ปัญหาความยากจนโดยวิธีอื่นไม่ออก จึงใช้ระบบผลิตซ้ำ เนื่องจากหลายครอบครัว แม่หรือญาติเคยมีอาชีพดังกล่าวมาก่อนโดยไม่มีการคิดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้บริหารหมู่บ้าน สมาชิกสภาจังหวัด ต่างมีความหวาดกลัวว่าในอนาคตคนไทยแท้ ๆ จะไม่มีคนวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์เพียงพอที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา และเกรงว่าชาวต่างชาติหรือชาวเขาจะเข้ามาครอบครองประเทศ เป็นผู้นำชุมชนหรือเป็นตัวแทนใน อบต. สจ. สส. หากเราไม่สามารถหาคนไทยที่มีประสิทธิภาพ มีพลังเพียงพอที่จะดูแลประเทศชาติให้สง่างามได้
เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ต่อการรับรู้เรื่องโรคเอดส์ว่ามีผลกระทบด้านโครงสร้างทางสังคมเพียงใด เมื่อนำมาหาค่าความแปรปรวนพบว่าเกือบทุกข้อที่พบว่าไม่มีความแตกต่าง มีเพียง 1 ข้อที่มีความแตกต่าง คือ "แพทย์ พยาบาลเอาใจใส่รักษาผู้ป่วยเอดส์เช่นเดียวกับผู้ป่วยอื่น ๆ" ซึ่งมีค่า F Ratio = 23.216 ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านโครงสร้างทางสังคมมาก ประกอบ ด้วยปัญหาโรคเอดส์ก่อให้เกิดปัญหา คือทำให้ปริมาณคนวัยหนุ่มสาวในชุมชนลดลง เปลี่ยนแปลงแนวคิดในการประกอบอาชีพ สังคมใช้ประโยชน์จากคนวัยหนุ่มสาวได้ลดลง ขาดบุคคลวัยหนุ่มสาวที่จะเข้ามาทำงาน กิจกรรมกลุ่ม เช่น กลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มแม่บ้าน
ในส่วนของผลกระทบด้านกระบวนการทางสังคมในชุมชนพบว่า ก่อนมีผู้ป่วยเอดส์ครอบครัวช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี แม้ขณะที่มีผู้ป่วยเอดส์ในครอบครัว สมาชิกทุกคนยังมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี คนส่วนใหญ่ยังให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยเอดส์เช่นเดียวกับผู้ป่วยด้วยโรคอื่น ๆ โรคเอดส์ทำให้พ่อแม่ให้ความเอาใจใส่ ดูแลตักเตือนบุตรหลานมากขึ้น มีการพูดคุยปรึกษาหารือกันในชุมชนเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้นกว่าเดิม ครอบครัวและชุมชนมีภาระที่ต้องเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์เพิ่มขึ้น ทำให้หนุ่มสาวเปลี่ยนแปลงการคบหากันในรูปแบบใหม่ รูปแบบการดูแลเอาใจใส่ต่อกันในครอบครัวชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยอมรับว่าผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ยังไม่แสดงอาการยังสามารถไปทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ในบางแห่งจะมีผู้ไปร่วมในงานศพที่ตายด้วยโรคเอดส์น้อยกว่าผู้ป่วยด้วยโรคอื่นและมีการพิจารณาจำแนกแยกแยะ รังเกียจว่าเป็นงานของคนป่วยเอดส์หรือคนปกติ การติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างกันมีน้อยลงกว่าเดิม และหนุ่มสาวที่ออกไปหางานทำและติดเอดส์กลับมาชุมชนจะไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน

อภิปรายผล

"ONE WORLD ONE HOPE"
"โลกนี้ยังมีหวัง รวมพลังหยุดยั้งเอดส์"

1. โรคเอดส์ทำลายระบบความเข้มแข็งระบบครอบครัว โรคเอดส์ก่อให้เกิดปัญหาสังคมได้แก่ทำให้เกิดเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันควรอันเนื่องมาจาก
1.1 การหย่าร้างของครอบครัว สาเหตุของการหย่าร้างน่าจะมีต้นเหตุมาจากหลายประการ แต่ที่เด่นชัดก็เนื่องจากในปัจจุบันเราอยู่ในยุคของครอบครัวเดี่ยว บางคู่ก็อยู่ด้วยกันโดยไม่มีพิธีแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณีและให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทำงานในเมืองหรือแม้กระทั่งนักศึกษาซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความกดดันทางเศรษฐกิจ ผลการวิจัยของพศิน แตงจวง (2541) พบว่าสตรีที่กลับจากการขายบริการทางเพศซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อเอดส์มีปัญหาการหย่าร้างหรือคู่ครองเสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ ขาดผู้อาวุโสเอื้ออาทร ตักเตือน ให้ความรัก ความห่วงใย คอยขัดเกลา ให้มีความเชื่อแบบไทย ๆ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพบว่าติดเชื้อเอดส์ ทำให้การตัดสินใจที่จะหย่าร้างเป็นไปอย่างง่ายดาย จากการออกไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนพบว่า ในแต่ละโรงเรียนมีเด็กกำพร้าอันเกิดจากการหย่าร้างและพ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ไม่น้อยกว่า 5-10 คน และคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งจะเป็นภาระให้แก่สังคมต่อไป นอกจานี้ยังมีสถิติที่นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค (2540) เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2539 มีคนติดเชื้อเอดส์ในโลกและยังมีชีวิตอยู่ราว 22.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนถึง 1 ล้านคน เด็กกำพร้าเป็นเด็กที่น่าสงสารทั้งสภาพจิตใจและกาย ยิ่งเป็นเด็กกำพร้าอันเนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ก็ยิ่งน่าสงสารมากขึ้น เนื่องจากเด็กคนอื่น ๆ จะไม่เข้ามาคลุกคลี เล่นด้วยเพราะเกิดความขยะแขยง รังเกียจ ด้วยเหตุนี้การหย่าร้างรูปแบบใดก็ตามล้วนเป็นต้นเหตุของการทำลายทั้งโครงสร้างทางสังคมและกระบวนการทางสังคม ซึ่งสมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข ก่อนถึงวาระของการ "สิ้นชาติ" เนื่องจากเอดส์เป็น "ลางแห่งวันสิ้นพิภพ" เพื่อป้องกันการสูญเสียสอดคล้องกับความคิดของชัยอนันต์ สมุทวนิช (2536) ที่กล่าวว่า "โรคเอดส์อาจทำให้มนุษย์สูญเผ่าพันธุ์ลงได้"
อย่างไรก็ตาม ประเวศ วะสี (2536) และทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ (2536) ต่างย้ำว่าการจะเผชิญกับวิกฤตการณ์โรคเอดส์นั้นจะทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง โดยนิธิ เอียวศรีวงค์ (2536) กล่าวสนับสนุนความคิดดังกล่าวว่า "เราต้องมองว่าชุมชนเป็นทุนสำคัญในการแก้ปัญหาโรคเอดส์" ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันและสร้างองค์กรชุมชนขึ้นมาเองและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย
1.2 โรคเอดส์ โรคเอดส์เป็นปัจจัยทำให้พ่อ-แม่ป่วย หรือเสียชีวิตลงและเด็กได้กลายเป็นเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กได้กลายเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคเอดส์อีกแหล่งหนึ่งเนื่องจากเด็กเหล่านี้จะออกหาเงินโดยการขายบริการทางเพศไปเรื่อย ๆ ผลกระทบด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคเอดส์นั้นค่อนข้างสับสน วุ่นวายใจ ไร้อนาคต ตรงตามที่ผลสรุปบรรยาย รวมเรื่องและบันดาลใจความร่วมมือในการทำงานและความสัมพันธ์เป็นสภาพชีวิตภายหลังการติดเชื้อว่า "เหมือนการโดยสารเครื่องบินโดยไร้จุดหมายปลายทางที่แน่นอน อีกทั้งต้องละทิ้งความใฝ่ฝัน ความคาดหวังและความปรารถนาทั้งมวลไป" อย่างไรก็ตาม พศิน แตงจวง (2537) ก็มีความเชื่อว่าสักวันจะมีหนทางแก้ไขได้หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันดัง ข้อความที่ว่า
"ท้องทะเล แม้จะดูเหมือนไกลสุดลูกหูลูกตา แต่ทะเลก็ยังมีฝั่ง
การต่อสู่กับภัยเอดส์ แม้จะดูเหมือนไม่มีโอกาสชนะได้เลย
ก็อาจจะประสบความสำเร็จได้สักวัน เช่นกัน"
นั่นคือปัญหาโรคเอดส์จะต้องไม่ใช้กระบวนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ สม่ำเสมอและไม่สร้างภาพที่น่ากลัว มีความเชื่อกันว่า สังคมสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อชีวิตและพฤติกรรมของมนุษย์ทุกเพศทุกวัยที่จะหล่อหลอมเจตคติ จิตสำนึกและพฤติกรรม ดังนั้นการที่จะให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ดี เราต้องสร้างโอกาสการเรียนรู้โดยผ่านสิ่งแวดล้อมในสังคมที่ดีทุกรูปแบบด้วย ซึ่งธนวรรธน์ อิ่มสมบูรณ์(2540) ได้เสนอแนวคิดไว้ในบทความเรื่องพฤติกรรมวัยรุ่นกับโรคเอดส์ว่า สมควรหาทางออกให้ 3 ทาง คือ
1) สนับสนุน ส่งเสริมให้เด็กมีความพึงพอใจในความรู้ ความสามารถด้านการเรียน ของตนเอง
2) ส่งเสริมให้เด็กมีความพึงพอใจ สนุกสนาน เพลิดเพลินกับการเล่นกีฬาและงานอดิเรกที่สร้างสรรค์
3) สนับสนุน ส่งเสริมให้เด็กได้สนใจและมีทักษะทางการดนตรีและการใช้เวลาว่างให้เพลิดเพลิน แต่การพัฒนาเด็กของเรายังดำเนินการพัฒนาสติปัญญาผิดพลาดตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เด็กในวัยแรกเกิดถึง 6 ขวบควรได้รับการพัฒนาสมองซีกขวา แต่กลับไปส่งเสริมการท่องจำซึ่งเป็นการพัฒนาสมองซีกซ้าย ทำให้สมองซีกขวาถูกขัดขวางการเจริญ การแก้ปัญหาโดยวิธีการทั้ง 3 จึงเป็นการ "แก้ปัญหา" มากกว่าการป้องกัน
1.3 จากข้อค้นพบที่ว่าโรคเอดส์ได้ทำลายระบบครอบครัว การออกไปทำงานที่อื่นนอกชุมชนเป็นต้นเหตุของการทำลายระบบความเข้มแข็งระบบครอบครัว ดังคำกล่าวที่นักแสวงหางานทำต่างประเทศว่า "ไปเสียนา มาเสียเมีย" นั้นเป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของวัฒนธรรมไทยที่ถูกรุกรานจากวัฒนธรรมตะวันตกที่ติดมากับสังคมอุตสาหกรรมหรือบริโภคนิยม
2. โรคเอดส์ทำลายระบบความเข้มแข็งของชุมชน ในชุมชนจะมีผู้นำ 2 แบบคือ
2.1 ผู้นำอย่างเป็นทางการ จากข้อค้นพบที่ว่าโรคเอดส์ได้ทำลายระบบสังคมของชุมชนในสมัยก่อนเราคุ้นเคยกับคำว่า "ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน" แต่ในยุคนี้เรามักได้ยินคำว่า "อบต" เข้ามาแทนที่ กลุ่ม อบต. ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะทำงานตามความต้องการของชุมชนได้มากกว่าผู้ใหญ่บ้านกำนัน แต่ทั้งหมดต่างก็อยู่ภายใต้ระบบราชการซึ่งจะเน้นการทำงานตามภาระหน้าที่ที่ระเบียบกฎหมายรองรับ ผู้นำกลุ่มนี้จะเดินทางไปแลกเปลี่ยน รับนโยบายจากทางราชการเป็นระยะ ๆ ทำให้งานถูกขอร้องหรือกำหนดจากภายนอก โดยมีงบประมาณเป็นปัจจัยล่อให้เกิดความสนใจที่จะทำงาน ทำให้การทำงานขาดพลังร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่โครงการที่ถูกกำหนดจากราชการจะไม่คำนึงถึงความแตกต่างในบริบท ผู้นำอย่างเป็นทางการจึงเป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ในการนำความเชื่อ ค่านิยมจากภายนอกเข้าสู่ชุมชนโดยขาดความตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาอีกมาก
2.2 ผู้นำตามธรรมชาติ จากข้อค้นพบที่ว่าโรคเอดส์ได้ทำลายระบบการควบคุมโดยชุมชน ในสมัยก่อนเนื่องจากการคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อคราวเจ็บป่วย เกิดปัญหาขึ้นจำเป็นต้องมีผู้อาวุโสคอยช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้และต่อมาก็ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำ ผู้นำประเภทนี้จะไม่มีเงินเดือนประจำตำแหน่ง ไม่มีอิทธิพลบังคับใครๆ ทางการไม่ได้แต่งตั้ง แต่เป็นผู้นำเพราะความศรัทธาเพราะความสามารถเฉพาะตัวและจะเป็นผู้ที่สามารถชักจูง โน้มน้าวความคิดของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานใด ๆ จะเน้นความรับผิดชอบร่วมกันมากกว่า มักมีการจัดเวทีพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ในแหล่งงานที่ทำงาน การกำหนดเป้าหมาย กิจกรรมจะคำนึงถึงความสอดคล้องกับบริบททำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามครรลองครองธรรมและไม่แปลกแยกจากชุมชน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าเมื่อปริมาณผู้นำอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นมากเท่าไร ปริมาณของผู้นำตามธรรมชาติก็จะหดหายไป ดังเช่น การรักษาโรคภัยไข้เจ็บในสมัยก่อนอาศัยยาสมุนไพรที่ได้จากภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหลักแต่เมื่อเทคโนโลยีและยาปฏิชีวนะให้ผลรวดเร็วกว่า ทำให้ยาสมุนไพรต้องถูกกีดกัน
3. โรคเอดส์ทำลายระบบความเข้มแข็งของสถาบัน
3.1 ศาสนา โรคเอดส์มีส่วนทำลายความเชื่อในสมัยก่อน ซึ่งมีวัดเป็นสถาบันที่ช่วยขัดเกลาด้านจิตใจ เป็นแหล่งสร้างความเชื่อให้กับชุมชน อย่างไรก็ตามในระยะต่อมาเราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการป่วยเป็นโรคเอดส์ของพระสงฆ์ การมีเพศสัมพันธ์กับทั้งสตรีและเด็กผู้ชาย ปัญหาเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อศาสนาอย่างรุนแรง ทำให้เยาวชนห่างเหินจากศาสนาไปมาก ประกอบกับการเทศนาสั่งสอนของพระสงฆ์ยังเป็นไปในรูปแบบเดิม คือ สั่งสอนตาม "พระธรรม" โดยขาดการประยุกต์หรือขาดการยกตัวอย่างเชิงประจักษ์
3.2 การศึกษา จากข้อค้นพบที่ว่าโรคเอดส์ได้ทำลายระบบต่าง ๆ ของชุมชน แต่ดูเหมือนว่าการศึกษาที่เราคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งที่พึ่งสุดท้ายในการขัดเกลาพฤติกรรมของคนในชุมชน แต่กลับเป็นว่าการศึกษาได้กลายเป็นเครื่องมือทำมาหากิน มีการแข่งขันด้านการศึกษาอย่างรุนแรง นอกจากนี้การศึกษาก็ยังเป็นในรูปแบบเดิมคือ "การยัดทะนาน"มากกว่า "การคิดอย่างวิเคราะห์" จึงทำให้เด็กส่วนใหญ่ท่องจำเพื่อเอาความรู้ไปสอบ แต่เมื่อมีโจทย์ปัญหาประจำวันที่ให้คิดวิเคราะห์จึงทำไม่ได้ หากการเรียนการสอนยังเหมือนเดิมที่มุ่งเน้น "การแต่งตัวเลข" ว่ามีคนเรียนจบระดับชั้นสูงตามแผน การศึกษาของเรายังคงเน้นที่ "สำเร็จการศึกษา" หรือใบวุฒิบัตร โดยไม่ค่อยคำนึงถึงคุณภาพที่แท้จริง ดังนั้นผลผลิตจึงมีผู้สนใจน้อยว่าได้เกิดการเรียนรู้เพียงใด มีสติปัญญาพียงพอที่จะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคมเพียงใดหรือว่า "ยิ่งเรียนสูงยิ่งเห็นแก่ตัว" ถ้าเช่นนั้นแล้วการศึกษาที่ประชาชนทั่วไปต้องเสียภาษีให้มีการตั้งสถาบันการศึกษาด้วยหวังที่จะให้ลูกหลานเรียนเป็นคนดีของชาติก็น่าเสียดายยิ่ง จึงถึงเวลาแล้วที่นักการศึกษาควรจะให้ความสนใจกับคุณภาพ อย่างแท้จริงก่อนที่เราจะไม่มีอะไรเหลือเป็นเอกลักษณ์ชาติไทยให้ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปได้ชื่นชม การศึกษาไม่ควรขังตัวเองอยู่แต่ใน "รั้วของโรงเรียน" เท่านั้น ปัญหาที่มีในชุมชนโรงเรียนควรตระหนักและให้ความสนใจที่จะเข้าไปร่วมศึกษา ร่วมแก้ปัญหา ผสมผสานความรู้ใหม่กับภูมิปัญญา การศึกษาทุกระดับควรมีการทบทวนปรัชญา ภารกิจ หน้าที่ที่แท้จริง และรวมถึงควรมีการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน
3.3 องค์กรต่าง ๆ ปัจจุบันนับได้ว่าเป็นยุคของการก่อตั้งองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนมากที่สุด เพื่อให้ได้ชื่อว่าการมีส่วนร่วม จากผลการวิจัยพบว่ามีการก่อตั้งมูลนิธิเกี่ยวกับโรคเอดส์ในชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเนื่องจากเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่จะช่วยเหลือตัวเองในแนวเชิงรับ แต่สิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งคือการทำงานเชิงรุก กล่าวคือควรเน้นที่การป้องกันให้มากด้วย เนื่องจากยังมีปริมาณผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นซึ่งแสดงให้เห็นว่านโยบายการรณรงค์ต้านภัยเอดส์ยังไม่ประสบความสำเร็จนั่นเอง ซึ่งนักจิตวิทยามองว่าพฤติกรรมเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอดส์นั้นยังไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า"ประชาชนยังไม่ตระหนักต่อภัยของโรคเอดส์ที่จะเกิดขึ้น" ผู้เขียนเชื่อว่าการที่พฤติกรรมการเสี่ยงรับเชื้อเอดส์ที่ยังคงมีอยู่นั้นเกิดจาก "ความบกพร่องทางระบบคิด" ทางออกหนึ่งที่อาจทำได้คือการให้สมาชิกในองค์กรได้เสวนากันให้มากเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน มากกว่าการนำภูมิปัญญาจากภายนอกซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ และยังมีผลกระทบให้เกิดการทำลายวัฒนธรรม ศักยภาพ ความศรัทธาและความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย การตั้งองค์กรโดยได้รับอิทธิพลแนวคิดจากภายนอกมักไม่มีความยั่งยืน อาจเนื่องมาจากความไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงหรือจัดตั้งเพราะถูกขอมาแต่ไม่มีคุณค่าต่อสังคมนั้น ๆ เพราะห่างไกลจากภูมิปัญญาที่มีอยู่
4. โรคเอดส์ทำลายความเข้มแข็งด้านแรงงาน จากข้อค้นพบที่ว่าโรคเอดส์ได้ทำลายระบบการใช้แรงงานร่วมกัน เนื่องจากไม่มีแรงงานพอที่จะทำงานได้เหมือนก่อนหรือมีปริมาณแรงงานไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่จึงได้หันไปใช้เครื่องจักรในการประกอบอาชีพมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือก่อให้เกิดมลภาวะ ต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มากขึ้นเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ ความอ่อนแอในชุมชนยิ่งทวีคูณ เศรษฐกิจยิ่งจนลงเรื่อย ๆ การที่ชุมชนไม่พึ่งพากันทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินซึ่งมีความสัมพันธ์กับค่าแรงจะยิ่งสูงขึ้น ๆ เนื่องจากไม่มีความผูกพัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีการเจ็บป่วยในชุมชน ๆ จะให้ความเห็นใจ เอื้ออาทรกันน้อยลง ทางออกของชุมชนก็คือมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาแทนที่ในเกือบทุกโรงงานที่ใช้แรงงานหนัก
5. โรคเอดส์มีผลกระทบต่อโรงงาน โรคเอดส์ได้สร้างความตระหนกและหวาดหวั่นจากนักลงทุน เนื่องจากค่าแรงงานในประเทศไทยค่อนข้างแพง แต่ไร้คุณภาพ มีวันขอหยุดทำงานจำนวนมาก แถมนายจ้างต้องเสี่ยงต่อการจ่ายสวัสดิการรักษาโรคเอดส์อีกด้วย
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้พยากรณ์ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจ แรงงานไทยจะทรุดลงอีก ในขณะที่ประเทศข้างบ้าน เช่น ประเทศมาเลเชีย เวียดนาม จีน จะเฟื่องฟูและขึ้นมาแทนไทย หากเราไม่ช่วยกันแก้ไข ปรับวิธีคิดเรื่องการอุตสาหกรรม การปฏิบัติงานของข้าราชการเสียใหม่ สร้างวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลกว่าที่เป็นอยู่ "สร้างวิญญาณของความรักชาติ รักแผ่นดิน ทำเพื่อชาติเฉกเช่นบรรพบุรุษที่เคยทำมาก่อน"
ข้อเสนอแนะ
1. การศึกษา แนวการจัดการศึกษาของไทยควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วนและลึกแบบถอนรากถอนโคน เพราะนักเรียนเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวนมากโดยปราศจากความรู้ทางวิชาการ ขาดความพร้อมเป็นพื้นฐานในการเลือกเรียนวิชาที่จะเกี่ยวข้องกับอาชีพในอนาคตแต่อย่างใด" ทำให้กว่าร้อยละ 70 เข้าสู่ตลาดแรงงานโดยปราศจากความรู้วิชาการที่พร้อมจะเข้าไปฝึกฝนทักษะเฉพาะทางของงานในสถานประกอบการ
2. การศึกษานอกระบบ ควรเน้นที่การฝึกการประกอบอาชีพ การส่งเสริมทักษะอาชีพแบบครบวงจรอย่างแท้จริงมากกว่าการสอนสายสามัญ(ที่ปราศจากคุณภาพ) หรือการฝึกทักษะแบบผิวเผินเท่านั้น เนื่องจากในสายตาของชาวโลกในปัจจุบันประเทศไทยได้ผ่านขั้นตอนการใช้แรงงานขั้นต่ำแล้ว ควรเป็นแรงงานที่มีทักษะ หรืออย่างน้อยก็กึ่งทักษะ แต่ในความเป็นจริงแรงงานไทยขาดทักษะ ขาดความรู้ความสามารถ ขาดระบบคิด ขาดความอดทน ไม่มีวิสัยทัศน์ของการเป็นแรงงานที่มีคุณค่า
3. สถาบันอุดมศึกษา การจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาควรมีการพัฒนา ปรับปรุงใหม่ โดยเน้นให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ค้นคว้าหาความจริงด้วยตนเอง เช่น ควรเริ่มให้ทำการวิจัยหรือ ค้นคว้าอิสระ มากกว่าการท่องจำซึ่งไม่ได้สร้างสรรค์สติปัญญา สถาบันอุดมศึกษาพึงกระทำตนให้เป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำทางที่ดี ช่วยพัฒนาสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่านำพาประชาชนเดินขบวนซึ่งเป็นพฤติกรรมสร้างปัญญาหาและเป็นการกระทำแบบปลายเหตุ

บรรณานุกรม
กลุ่มงานวิจัยการให้บริการทางการแพทย์ (2540). ข่าวสารโรคเอดส์. ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 มีนาคม.
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (2539). ที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาวิชาการปรึกษาเรื่องเอดส์. 23
กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (2535). สรุปสถานการณ์โรคเอดส์ ประจำวันที่ 31พฤษภาคม
ข่าวสารเอดส์ (2539). "งาน Home Based Care ในเขต กทม." ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 1-15 มกราคม.
จดหมายข่าว ศูนย์เพื่อชีวิตใหม่ (2541). "สมุนไพรสำหรับผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี" ปีที่ 3 ฉบับที่ 20 เมย.-พค.
ธงชัย เติมประสิทธิ์ (2538). "เอดส์ยำเชียงใหม่แย่เฉลี่ยคร่าวันละ 2 คน". จดหมายข่าวชุมชนสัมพันธ์ป้องกันเอดส์.
ฉบับที่ 28 สิงหาคม.
ธนวรรธน์ อิ่มสมบูรณ์(2540). “คู่มือการเฝ้าระวังสุขภาพ” เอกสารประกอบการประชุม 22-28 กุมภาพันธ์ จัดโดย
กองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข
บุญส่ง นิลแก้ว และพศิน แตงจวง (2535). KAPB เกี่ยวกับโรคเอดส์ของประชาชนใน
ชนบทจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ รายงานการวิจัย เสนอ Care International.
ประคอง วิทยาศัยและวิชาญ วิทยาศัย (2537). "เมื่อลูกศิษย์ติดเอดส์" แพทย์ไทยต้านภัย
เอดส์. เชียงใหม่: มูลนิธิเกื้อดรุณ.
ประพันธ์ ภานุภาค (2540). "ติดเอดส์จากแม่" ข่าวสารโรคเอดส์ ปีที่ 10 ฉบับ 9 กันยายน.
พศิน แตงจวง (2536). Model การถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคเอดส์ด้วยสื่อบุคคลและประสิทธิภาพของสื่อบุคคล
เอกสารประกอบการนำเสนอผลงานทางวิชาการการสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 3 ณ โรงแรม
แอมบาสเดอร์ 7-9 กรกฎาคม
__________ (2537ข). “กระบวนการถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคเอดส์ด้วยสื่อบุคคล” วารสารการศึกษานอกระบบ
สมาคมการศึกษานอกระบบแห่งประเทศไทย ปีที่ 8 ฉบับที่ 21 ตุลาคม.
วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ และคณะ (2534). รูปแบบการมีความสัมพันธ์ทางเพศในสังคมไทย รายงานการวิจัยเสนอ โครงการ
โรคเอดส์ สภากาชาดไทย และองค์การอนามัยโลก (เอกสารอัดสำเนา).
สำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 10 (ม.ป.ป.). สถานการณ์โรคเอดส์และความจำเป็นของการให้บริการปรึกษา
อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์ พศิน แตงจวง และสุกัญญา นิมานันท์ (2536). รูปแบบการเผยแพร่เรื่องโรคเอดส์ด้วยสื่อบุคคล
รายงานวิจัยเสนอคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Benz, Carolyn R. (1996). "School to work: Beginning the journey in middle school" Clearing House
A Journal for Educational Research Controversy and Practices. Vol. 70 No. 2 Nov.-Dec.
NORAD (1990). AIDS : New challenges in development cooperation. Oslo: Food for thought from a
NORAD/NGO Workshop on AIDS and development. (Mimeographed).
Worldview Thailand (nd.). Communication for AIDS prevention in the Hill tribe areas of northern Thailand (mimeographed).

ไม่มีความคิดเห็น: